ประวัติพระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง)

ชีวประวัติพระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม)

พระภาวนาโกศลเถระ เดิมชื่อเอี่ยม เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด บ้านอยู่ริมคลองบางหว้า หลังวัดหนัง กำเนิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๙ ปีมะโรง จัตวาศก ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีนามสกุลว่า “ทองอู๋” ชาวบ้านบางขุนเทียนเรียกกันว่า “หลวงพ่อปู่เฒ่า” ส่วนบุคคลทั่วๆ ไป และนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย เรียกว่า “หลวงพ่อวัดหนัง” โยมบิดามารดามีชื่อว่า นายทอง และนางอู่ ซึ่งเป็นต้นตระกูล “ทองอู๋” ในขณะนี้ โยมทั้งสองท่าน ประกอบอาชีพเป็นชาวสวนและมีฐานะมั่นคง เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ บุคคลชั้นหลังของตระกูลนี้ขอใช้นามสกุลว่า “ทองอู่” อันเป็นนามรวมของโยมทั้ง ๒ แต่ต่อมาไม่นานนัก ก็ได้มีเจ้านายพระองค์หนึ่ง ทักท้วงว่าไปพ้องกับพระนามของเจ้าต่างกรมพระองค์เข้า จึงต้องเปลี่ยนมาเป็น “ทองอู๋” สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

เครือญาติพี่น้องร่วมท้องเดียวกับพระภาวนาโกศลเถระ มีอยู่ด้วยกัน ๓ คนคือ โยมพี่สาวชื่อ นางเปี่ยม ทองอู๋ เป็นผู้รักษาศีลอุโบสถและไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว ดังนั้นเมื่อสิ้นโยมบิดามารดาแล้ว จึงมาฝากไว้ในความอุปการะของนายทรัพย์ ทองอู๋ บิดาของนายพูน ทองพูนกิจ ผู้เป็นบุตรผู้พี่ของพระภาวนาโกศลเถระ คือนายเอม ทองอู๋

การศึกษาอักขร สมัยเมื่อพระภาวนาโกศลเถระ ยังเด็กอายุ ๙ ปี โยมทั้ง ๒ ของท่านได้นำมาฝาก เรียนหนังสือ ในสำนักพระครูธรรมถิดาญาณ หรือหลวงปู่รอด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ในสมัยต่อมา ได้เป็นพระอาจารย์ วิทยาคม ของพระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม) การศึกษาพระบาลีปริยัติธรรม เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี ท่านได้ศึกษาพระบาลีปริยัติธรรม ในสำนักพระมหายิ้ม วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อจากนั้น ได้ไปอยู่ในสำนัก พระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)
ต่อมาท่านได้กลับมาบรรพชาเป็นสามเณร และศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนัง ราชวรวิหาร สำนักเดิม ของท่าน อีกวาระหนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ ดำเนินมาหลายปี ติดต่อกันจนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๓๙๔ เมื่อท่าน อายุได้ ๑๙ ปี จึงได้เข้าสอบ แปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง ซึ่งสมัยนั้น ต้องเข้าสอบแปลปากเปล่า ต่อหน้าพระพักตร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแต่น่าเสียดายที่ท่านสอบพลาดไป เลยลาสิกขาบท กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง

อาจจะเป็นด้วยบุญกุศลที่จะต้องเป็นสมณะเพศเพื่อพระศาสนา เพื่อการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์สังฆาวาส เสนาสนะ แห่งวัดนี้ ให้ฟื้นฟูคืนจากสภาพอันเสื่อมโทรมขึ้นสู่ยุคอันรุ่งเรืองสูงสุด ในกาลสมัยต่อมา หรือเพื่อความเป็น พระเกจิอาจารย์ ชั้นเยี่ยมแห่งองค์พระกษัตราธิราชเจ้า และเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ของบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลาย ท่านจึง หันกลับเข้ามาสู่ร่มเงาแห่งกาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้จากไปเพียง ๓ ปีเท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้เข้ามาอุปสมบท ตามขนบจารีตอันดั้งเดิมของชาวไทย เพื่อสืบต่อพระบวรพุทธศาสนา และเพื่อแสดง กตเวทิตธรรม แด่โยมผู้บุพการีทั้งสอง ซึ่งได้ทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราชโอรสาราม (วัดจอมทอง)
อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี (เขตจอมทอง กรุงเทพฯในปัจจุบัน)

พระอุปัชฌาย์ได้ขนานนามว่า “สุวณฺณสโร”
พระสุธรรมเทพเถระ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระธรรมเจดีย์ (จีน) กับพระภาวนาโกศลเถระ (รอด) เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงปู่เฒ่าได้ไปอยู่วัดนางนอง ตรงข้ามกับวัดหนังและได้เริ่มลงมือศึกษาคันถธุระต่อไป ณ สำนัก พระธรรมเจดีย์ (จีน) และพระสังวรวิมล (เหม็น) ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรม สนามหลวงอีกครั้ง แต่คงสอบไม่ได้อีกเช่นเคย เรื่องนี้ท่านต้องนั่งคุกเข่าประนมมือตลอดเวลา ที่แปลต่อหน้าพระคณาจารย์ผู้ใหญ่ พระมหาเถระผู้เป็นกรรมการองค์หนึ่งบอกกับท่านเมื่อแปลจบว่าแปลได้ดี แล้วก็ชวนท่านให้ไปอยู่ในสำนักเดียวกัน แต่ท่านปฏิเสธ

การศึกษาวิปัสสนาธุระและพุทธาคม
ปรากฏตามหลักฐานชัดเจนว่าท่านได้ศึกษาวิปัสสนาธุระ และพุทธาคม กับพระภาวนาโกศลเถระ (รอด) เจ้าอาวาสวัดนางนอง ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่านเอง จากการศึกษา ชีวประวัติของท่าน จะเห็นได้ว่า ท่านเจริญรอยตามพระอาจารย์รูปนี้มาโดยตลอด เช่นเดียวกับ พระพุฒาจารย์ (โต) เจริญรอยตามสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ผู้สร้างพระสมเด็จ “อรหัง” และพระสมเด็จฯ วัดพลับ เช่นในการที่ท่าน ได้สร้างพระปิดตา และพระปิดทวาร ฯลฯ ขึ้น ก็ถอดลักษณะมาจากพระเครื่องทั้ง ๒ ชนิดของหลวงปู่รอด และในสมัยที่พระภาวนาโกศลเถระ (รอด) ถูกราชภัยถูกถอดสมณศักดิ์ลงเป็นขรัวตาธรรมดา ในกรณีที่ ไม่ยอมถวายอดิเรกแด่รัชการที่ ๔ คราวเสด็จพระราชทานผู้พระกฐินที่วัดนางนอง และถูกย้ายไปครองวัดโคนอน ในขณะนั้นท่านบวชได้ ๑๖ พรรษา เป็นพระปลัดฐานานุกรมของพระภาวนาโกศลเถระ (รอด) และฐานะศิษย์ใกล้ชิด ก็ได้ย้ายจากวัดนางนองติดตามไปปรนนิบัติอาจารย์ของท่าน ณ สำนักใหม่อย่างไม่ลดละ แสดงถึงน้ำใจอันประเสริฐ ของท่านที่ไม่ยอมพรากเอาตัวออกห่าง นับว่าจัดเป็นคุณธรรมที่ปรากฏเล่าขานสรรเสริญกันมาจนทุกวันนี้

“พระครูธรรมถิดา” (รอด) เป็นบุตรใครไม่ทราบ ภูมิลำเนาเดิมอยู่คลองขวาง ตำบลคุ้งเผาถ่าน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เป็นฐานานุกรมใน พระนิโรธรังสี พระราชาคณะ เจ้าอาวาสองค์แรก (ของวัดหนัง) เป็นผู้เชี่ยวชาญในฝ่ายวิปัสสนาธุระที่สำคัญรูปหนึ่ง เมื่ออยู่วัดหนัง อยู่คณะสระ พระนิโรธรังสีมรณภาพแล้ว ได้รักษาวัดอยู่คราวหนึ่ง ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนางนองและพระราชทานสมณศักดิ์เป็น ที่พระภาวนาโกศล ในรัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินวัดนางนอง เล่ากันว่า ท่านไม่ถวายอดิเรกนับเป็นความผิด ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางราชการถอดออกจาก สมณศักดิ์ ท่านจึงไปอยู่วัดโคนอนซึ่งอยู่ในคลองขวาง ฝั่งตะวันตก ต.บางหว้า อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี และมรณภาพที่วัดนี้ หลวงปู่รอดองค์นี้เป็นผู้สร้างวัดอ่างแก้ว ในวันที่เกิดเหตุนั้น หลวงปู่เฒ่าก็อยู่ในที่นั้นด้วยสมัยที่ยังเป็นพระปลัดได้เตือนให้พระภาวนาโกศลเถระ (รอด) ถวายอดิเรก แต่ท่านยังเฉยเสียพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วมาก เสด็จออกมานอกพระอุโบสถ แล้วตรัสด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า “เขาถอดยศเรา” เกล่ากันว่าสาเหตุที่ไม่ยอมถวายอดิเรกนั้น เนื่องด้วยท่านไม่สบอารามณ์ในเรื่องการแบ่งแยกนิกาย ธรรมยุตกับมหานิกาย อันเป็นสาเหตุให้สงฆ์แตกแยกกัน

ต่อมาหลังจากพระภาวนาโกศลเถระ (รอด) ถูกเรียกพัดยศคืนไม่นานนัก วันหนึ่งสังฆการีก็ได้รับ พระบรมราชโองการให้นำพัดยศมาถวายคืนให้ท่าน แต่ท่านไม่ยอมรับและพูดกับสังฆการีว่า ใครเป็นผู้ถวายพัด แต่อาตมาและใครเล่าที่เอาคืนไป บุรุษจงเอากลับไปเสียเถิด วิทยาคุณของ พระภาวนาโกศลเถระ (รอด) ที่จะบรรยายต่อไปนี้ คุณปู่ทรัพย์ ทองอู๋ได้เล่าให้ทายาทฟังต่อ ๆ กันมา ซึ่งจะได้นำมาประมวลเข้าไว้ดังต่อไปนี้
การถอนคุณไสย์

ในการออกเดินธุดงค์คราวหนึ่งของหลวงปู่รอด ท่านได้ไปถึงชนบทแห่งหนึ่ง แถว ๆ ทุ่งสมรหนองขาวเขตติดต่อระหว่างกาญจนบุรีกับราชบุรี คืนวันหนึ่งขณะที่ท่านอยู่ในกลด มีพายุอื้ออึง และมีเสียงต้นไม้ต่าง ๆ ดังลั่นและหักโค่น ดังกึกก้องไปหมด ท่านจึงสมาธิเจริญพุทธาคม สงบนิ่งอยู่ พระที่ติดตาม ท่านเดินธุดงค์ได้ยินเสียงวัตถุหนัก ๆ ปลิวมาตกอยู่รอบบริเวณที่ปักกลด เสียงดังตุบ เช้าขึ้นพอเปิดกลดออกมา ก็เห็นท่อนกระดูกตกเรี่ยราดอยู่รอบบริเวณนั้น พอสักครู่หนึ่งก็มีชาวบ้านกระเหรี่ยง ๒-๓ คนเดินตรงเข้ามา บางคนก็ถือจอบและเสียมมาด้วย เมื่อได้สอบถามจึงได้ความว่าเขาเตรียมฝังศพพระธุดงค์ ซึ่งคาดว่า จะต้องถูกคุณไสย์มรณภาพ เมื่อคืนนี้ ครั้นเมื่อเห็นว่าหลวงปู่รอด และพระผู้ติดตามยังปกติดีอยู่ พวกกระเหรี่ยง จึงพากันกลับไป แต่พอไม่ทันไรก็พากันมาอีก ในตอนนี้นำเอาอาหารมาถวายด้วย หลวงปู่รอดบอกพระผู้ติดตาม ว่าอย่าได้ฉันอะไรเป็นอันขาด พอรับประเคนอาหารแล้วก็เรียก ให้พระผู้ติดตามเอาหม้อกรองน้ำ ของพระธุดงค์ มาให้แล้ว หลวงปู่รอดก็บริกรรม ทำประสะน้ำมนต์พรมอาหารนั้น

ปรากฎว่าข้าวสุกที่อยู่ในกระด้ง ก็กลายเป็นหนามเล็ก ๆ เต็มไปหมด กับข้าวต่าง ๆ ในกลามะพร้าว ก็กลายเป็นกระดูกชิ้นน้อย หลวงปู่รอด เอามือกวาดกระดูกและหนามเหล่านั้นไว้ แล้วคืนภาชนะที่ใส่มา ให้กับพวกนั้นไป พวกกระเหรี่ยงพยายาม จะขอคืนไปท่านไม่ยอมให้ ตกกลางคืนหลวงปู่รอดบอกกับพระลูกศิษย์ว่า ท่านจะปล่อยของเหล่านี้กลับไปเล่นงาน เจ้าพวกนี้บ้าง เพียงสั่งสอน ให้รู้สึกสำนึกเท่านั้น พอรุ่งเช้าพวกกระเหรี่ยง ก็รีบมาหาหลวงปู่รอดแต่เช้ามืด คราวนี้ หามคนป่วยมาด้วยคนหนึ่ง ล่าวคำขอขมา และขอร้องให้ท่านว่าช่วยรักษา ลักษณะคนป่วยร่างกายบวม ไปทั้งตัวเหมือนศพที่กำลังขึ้น หลวงปู่รอดหัวเราะแล้วถามว่าเป็นอะไรบ้าง คนป่วยได้แต่นอนอยู่ตลอดเวลา ได้แต่กรอกหน้าและยกมือขึ้นพนม หลวงปู่รอดจึงเอาน้ำมนต์ ในหม้อกรองน้ำ (ลักจั่น) พรมลงไปตามร่างคนป่วย เพียงครู่เดียวนั้นเองร่างกายที่บวม ก็ค่อยยุบเป็นอัศจรรย์ ทุกคนก็กราบหลวงปู่ด้วยความยำเกรง แล้วบอกว่าจะนำอาหารมาถวาย แต่ท่านบอกว่าจะ ถอนกลด แล้วเดินธุดงค์ต่อไปหลังจากได้ปักกลดอยู่ ๒ คืนแล้ว

การเดินทางบนใบบัว เรื่องนี้เนื่องมาจากเดินธุดงค์ในสมัยที่หลวงปู่เฒ่าเป็นเณรอยู่ ได้เล่ากันต่อๆ มาว่าในครั้นนั้น พระภานาโกศลเถร (รอด) ได้เดินธุดงค์โดยมีสามเณรร่วมไปด้วย ถึงห้วยกระบอก หรือห้วยกลด แขวง จ.กาญจนบุรี กล่าวกันว่ามีกลดพระธุดงค์ร้างปักอยู่มาก เนื่องจากหนีสัตว์ป่าไปเสีย ข้างหน้าภูมิประเทศเป็นบึงใหญ่ขวางหน้าอยู่ ส่วนทั้งข้างเป็นภูเขาสูงชันมาก ยากแก่การปีนข้าม หลวงปู่รอดบอกกับสามเณรว่า เมื่อท่านเดินก้าวลงใบบัว ในหนองน้ำนั้นชึ่งเป็นพืดติดต่อกันไป ถึงฝั่งตรงข้ามให้เณรคอยก้าวตาม เหยียบทับรอยเท้า ของท่าน บนใบบัวแต่ละใบอย่าให้พลาดได้

ท่านจึงบอกคาถาให้บริกรรมขณะที่จะก้าวเดินแล้วท่านก็เจริญอาโปกสิณอยู่ครู่งหนึ่ง ท่านก็ได้ก้าวเดิน บนใบบัว ทีละก้าว ส่วนสามเณรก็ก้าวตามไป พร้อมด้วยบริกรรมคาถา ผ่านท้องน้ำอันเวิ้งว้าง ไปโดยตลอด ส่วนสามเณรเห็นว่า ใบบัวก้าวสุดท้ายของหลวงปู่รอด ก่อนที่ท่านจะก้าวขึ้นฝั่งนั้น เป็นใบบัวที่เล็กมากและอยู่เกือบชิดตลิ่งแล้ว จึงไม่ เหยียบ ตามหลวงปู่ไปจะสืบเท้าก้าวขึ้นฝั่งเลยที่เดียว แต่ไม่สำเร็จ เพราะใบบัวที่เท้าหลังเหยียบอยู่ ยุบตัวลงเสียก่อน เณรจึงตกลงไปในน้ำ หลวงปู่รอดหันมาดูได้แต่หัวเราะและกล่าวขึ้น ว่าบอกให้เดินตาม ทุกก้าวไปก็ไม่ยอมเดิน ถ้าเป็นกลางบึงคงสนุกใหญ่
การสะกดจิต

คุณปู่ทรัพย์ ทองอู๋ บิดาของคุณพ่อพูน ท่องพูนกิจ ได้เล่าเรื่องประหลาดกันต่อๆ มาว่า
ได้มีคนร้ายขโมยเรือ ของหลวงปู่รอดที่จอดไว้ลำคูริมคลองขวางไป แต่ไม่สามารถจะพายไปได้ คงเวียนอยู่หน้าวัดโคนอนหน้ากุฎิของท่าน จนเช้าพระลูกวัดรูปหนึ่ง จะเอาเรือออกบิณฑบาต ครั้นไม่เห็นเรืออยู่แต่กลับเห็น ชายแปลกหน้า คนนั้นกำลังพายเรือวนเวียนอยู่ จำได้ว่าเป็นเรือของหลวงปู่รอดจึงได้นำเรื่องไปเรียนให้ท่านทราบ หลวงปู่รอดจึงลงมาที่ท่าน้ำขณะนั้น ได้มีชาวบ้านใกล้เคียงมาดูกันอยู่เนืองแน่น ท่านจึงตะโกนบอกไปว่า “เจ้าจงเอาเรือมาคืนพระเสีย ท่านจะเอาไปบิณฑบาต” คนร้ายก็พายเรือมาจอดให้พระท่านแต่โดยดี แล้วก็สั่งต่อไป ว่า
“ ขึ้นมาบนกุฎิเสียก่อน” คนร้ายก็ขึ้นตามคำสั่ง ในที่สุดหลวงปู่รอดก็สั่งให้เด็กจัดเอาอาหารมา ให้รับประทาน แล้วก็สั่งต่อไปว่า จะกลับบ้านก็กลับเถิดคนร้ายจึงได้เดินลงจากกุฎิไป
สมณศักดิ์

พระใบฎีกา และพระปลัด ขณะอยู่ที่วัดนางนอง ฐานานุกรมในพระภาวนาโกศลเถระ (รอด) จนย้ายไปอยู่วัดโคนอน

พระครูศีลคุณธราจารย์ ในระหว่างอยู่วัดโคนอนเมื่อหลวงปู่รอดเจ้าอาวาส (อดีตพระภาวนาโกศลเถระ) ถึงแก่มรณภาพ ท่าก็ได้ครองวัดเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน จนในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูศีลคุณธราจารย์ แล้วให้อาราธนามาอยู่วัดหนัง สาเหตุที่ย้ายมาอยู่วัดหนัง ก็เนื่องมาจาก กรมพระจักรพรรดิพงษ์เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดหนัง ทางวัดไม่มีจำนวนสงฆ์ อันพึงรับผ้ากฐินได้ ต้องทรงเปลี่ยนเป็นพระราชทานผ้าป่าแทน ภาวะแห่งวัดทรุดโทรมถึงที่สุด เมื่อเสด็จกลับ จึงกราบทูล ภาวะแห่งวัด แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้กระทรวงทำการติดต่อ ทางสมเด็จ พระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ เพื่อหาตัวเจ้าอาวาสใหม่ สมเด็จพระวันรัตเลือก ได้พระอธิการเอี่ยม เจ้าอาวาสวัดโคนอน จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์ พระครูศีลคุณธราจารย์ อาราธนามาครองวัดหนัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑
พระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม) เมื่อหลวงปู่เฒ่าได้มาครองวัดปีหนึ่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพิจารณาปีพรรษามากแล้ว กอปรด้วยศีลาจริยาวัตรอันงดงาม สมบุรณ์ไม่ด่างพล้อย หาตำหนิมิได้ กลับเป็นที่เคารพสักการะแด่ชนทั้งหลายโดยทั่วไป ทั้งพระองค์ทรงเคารพ นับถือในส่วนพระองค์ เป็นกรณีพิเศษอีกด้วยสมควรจะได้เลื่อนสมณศักดิ์ในฐานะหลวงปู่เฒ่าเป็น พระราชาคณะผู้ใหญ่ จึงทรงพระกรุณาปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ “พระภาวนาโกศลเถระ” ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒

หลวงปู่พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม) ปฏิบัติกิจวัตรเป็นประจำวันของท่านอย่างสม่ำเสมอเป็นปกติ เช่น การลงอุโบสถ แม้ฝนจะตกบ้างเล็กน้อยท่านก็เดินกางร่มไปซึ่งกุฏิของท่านอยู่ห่างประมาณ ๕๐ เมตร ขณะนี้ได้รื้อปลูกใหม่เป็นหอภาวนาโกศลไว้ที่เดิม น่าเสียดายควรจะได้ซ่อมแซมไว้เป็นที่ระลึก ให้กุลบุตรกุลธิดาไว้ศึกษาเป็นของเก่า เช่น กุฎีสมเด็จโตวัดระฆัง เป็นต้น พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม) ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ในหลวงจะได้รับสั่งให้ขุนวินิจฉัยสังฆการีนิมนต์เข้าไปในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิ ฉัตรมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น โดยคุณพ่อพูน ทองพูนกิจ เป็นไวยาวัจกร เมื่ออายุ ๑๔ – ๑๕ ปี ได้ติดตามเข้าไปในพระที่นั่งอมริทร์วินิจฉัย ถ้าหากเป็นพระราชพิธีในตอนเช้า หลวงปู่เฒ่าจะต้องไปค้างแรมที่วัดพระเชตุพนกับพระราชาคณะผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่ชอบพอกัน

ในการเดินทางไปสมัยนั้น ต้องไปด้วยเรือแจวของหลวงประจำวัด ถ้าไม่ค้างคืนก็จอดเรือขึ้นที่ตลาดท่าเตียน วัดโพธิ์ เดินไปพระราชวังเข้าทางประตูวิเศษไชยศรีใกล้หน่อย ถ้าไปค้างแรมต้องไปจอดที่ท่าราชวรดิษฐ์ ฝากทหารเรือให้ช่วยดูแลอีกทีหนึ่ง คงจะสงสัยว่า ไวยาวัจกรหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเด็กวัดนั้น จะแต่งกายติดตามหลวงปู่เฒ่าเข้าไปในพระราชวังได้อย่างไร คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ต้องแต่งตัวแบบประเพณีนิยม นุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนใส่เสื้อราชประแตนกระดุม ๕ เม็ด หลวงปู่เฒ่าท่านสั่งตัดและจัดหามาให้ใส่ ขณะเมื่อถึงแก่กรรมเสื้อตัวนี้ยังอยู่ เพราะตัดด้วยผ้าของนอกอย่างดีในสมัยนั้น ยังมีเรื่องที่คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า ขุนวินิจฉัยสังฆการีเคารพและนับถือหลวงปู่เฒ่ามาก ถ้าไม่มีราชการก็จะมาเยี่ยมเยียนทุกข์สุข มาครั้งใดเมื่อลากลับหลวงปู่เฒ่าจะให้ปัจจัยไปทุกครั้ง ๆ ละ ๑ บาท เพราะท่านขุนผู้นี้ชอบเล่นหวย ก.ข. มาทีไรขอหวยกับหลวงปู่เฒ่าทุกที แต่ท่านได้แต่หัวเราะแล้วเฉยเสีย