ประวัติ หลวงพ่อแม้น วัดเสาธงทอง
วัดเสาธงทอง
ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี มีความเป็นมาของท้องถิ่นอันน่าสนใจว่า เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้มีชาวมอญอพยพจากพม่ามาตั้งรกรากบริเวณลุ่มแม่น่ำเจ้าพระยาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ได้ตั้งถิ่นฐานหลักแหล่งจนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ซึ่งชาวมอญที่มาตั้งถิ่นฐานนี้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรกไปตั้งถิ่นฐานทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกชาวมอญกลุ่มนี้ว่า ‘บ้านบางมอญ’ อีกกลุ่มหนึ่งไปตั้งถิ่นฐานตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณทางใต้วัดเสาธงทอง เรียกชาวมอญกลุ่มนี้ว่า ‘บ้านบางรามัญ’ แล้วมีการเรียกผิดเพี้ยนกันมาเป็น ‘บ้านบางมัญ’ ดังในปัจจุบันนี้
ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า ตำบลบางมัญแบ่งออกเป็น ๗ หมู่บ้าน คือ
“หมู่ที่ ๑ บ้านหัวดอน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ ผู้ใหญ่สม นาคคำ แต่ก่อนต้องขุดบ่อเก็บน้ำฝนเพื่อใช้น้ำจากบ่อบาดาล เป็นที่เลี้ยงวัวควายในฤดูน้ำหลาก ทางใต้ของหมู่บ้านจะมีน้ำจากบางม่วงหมู่ไหลผ่านทางเหนืออ้อมไปทางตะวันออกมีบางตาสา ตรงกลางเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง จึงเรียกว่า บ้านหัวดอน
หมู่ที่ ๒, ๖ บ้านบางสำราญ (บางพาน) เดิมมีพวกข้าหลวงเจ้าเมือง บรรทุกสิ่งของลงเรือเพื่อไปกราบหลวงพ่อพระศรีอารย์ วัดไลย์ แต่ด้วยลำน้ำบางบ้านเพิกผ่านไหลเชี่ยวมากและลึก เรือจึงล่มข้าวของเครื่องใช้จมน้ำหมด เมื่อมีผู้พบพานทองเหลืองและเครื่องใช้ทองเหลืองอื่น และทราบว่าได้มากหนองน้ำแห่งนี้ ก็เลยเรียกว่า หนองบางพาน แต่นั้นมารวมทั้งเรียกหมู่บ้านว่า หมู่บ้านบางพาน และท่านเจ้าอาวาส พระครูสิงหราชมุนี ท่านได้เปลี่ยนชื่อจากหมู่บ้านบางพานมาเป็นบางสำราญ มาจนทุกวันนี้
หมู่ที่ ๓ บ้านหลังถนน เดิมรวมอยู่กับบ้านบางมัญ และได้มีการขุดคลองชลประทานพร้อมกับมีถนนคันคลองตัดผ่านบ้านบางมัญ หมู่บ้านจึงถูกแยกห่างออกไป ชาวบ้านมักเรียกว่าบ้านนอกคลอง และต่อมาได้มีส่วนราชการเข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน และเปลี่ยนจากบ้านนอกคลองเป็นบ้านหลังถนน
หมู่ที่ ๔, ๗ บ้านบางเพชร มีคหบดีเศรษฐีคนหนึ่งย่านนั้นได้บริจาคเงินและที่ดินของตนเองขุดเป็นลำรางน้ำ นำน้ำมาใช้ในหมู่บ้านและได้ให้ไพร่จัดหาอาหารมาเลี้ยง ซึ่งเป็นความภูมิใจของคนในหมู่บ้านมาก เมื่อตาเพชรถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีที่ได้เสียสละทั้งทรัพย์สิน กำลังกายและใจ ซึ่งสร้างความเจริญให้กับหมู่บ้าน จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า ‘บางตาเพชร’
หมู่ที่ ๕ บ้านบางเลา ได้มีพวกลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านนี้โดยรวมตัวกับชาวบ้านบางรามัญ ได้จัดสร้างวัดกันขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และร่วมแรงร่วมใจจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านบางลาว และมีการเรียกชื่อผิดเพี้ยนจากบ้านบางลาวมาเป็น ‘บางเลา’ จนถึงปัจจุบันนี้ และหมู่บ้านบางเลาเคยเป็นคำขวัญประจำจังหวัดสิงห์บุรีสมัยก่อน คือ ปลาแม่ลา น้ำยาบางเลา สาวบ้านแป้ง แตงบ้านไร่”
และหมู่ที่ ๕ บ้านบางเลา ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ที่มีชาวลาวเวียงจันทน์มาตั้งถิ่นฐานและได้สร้างวัดขึ้นมา เมื่อแรกเดิมชื่อตามหมู่บ้าน คือ ‘วัดบางลาว’ ครั้งเมื่อชื่อเรียกหมู่บ้านเพี้ยนมาเป็น ‘บางเลา’ วัดก็มีชื่อตามไปด้วย
ความเป็นมาของวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทางชลมารคตามลำน้ำเจ้าพระยา ประชาชนต่างประดับธงทิวและตั้งโต๊ะหมู่บูชารับเสด็จตามลำน้ำ สำหรับวัดบางเลาได้ตั้งเสาธงสูงเด่นเป็นสง่า ชาวบ้านร่วมกันปิดทองอย่างงดงาม เมื่อขบวนเสด็จมาได้ทอดพระเนตรเห็นวัด จึงตรัสเป็นมงคลเปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า ‘วัดเสาธงทอง’
วัดมีปูชนียสถาน คือ พระเจดีย์องค์ใหญ่หน้าอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ศาลาใหญ่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ อุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘
วัดเสาธงทองแห่งนี้มีอดีตเจ้าอาวาสวัดรูปหนึ่งนาม ‘พระครูพิพิธสุตการ’ หรือหลวงพ่อแม้น ธมฺมธาโร
อัตโนประวัติกล่าวว่า เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๒ ณ บ้านบางเลา ตำบลโพกรวม อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรของนายทอง นาคสุข และนางต่วน นาคสุข
ในวัยเด็กบิดาและมารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์พระครูเกศีวิกรม (พูล สาคโร) วัดสังฆราชาวาส ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ร่ำเรียนเขียนอ่าน ทั้งอักขระสมัยและคำนวณ บวก ลบ คูณ หาร
กล่าวสำหรับพระครูเกศีวิกรม (พูล สาคโร) เป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งของจังหวัดสิงห์บุรี มีประวัติกล่าวถึงว่า เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๙ ที่บ้านบางมัญ อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ณ วัดสังฆราชาวาส ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี มีพระอธิการสอน เป็นพระอุปัชฌาย์ วัดสังฆราชาเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมมีชื่อว่า ‘วัดบ้านใหม่’ หรือ ‘วัดหงส์งาม’ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเสด็จมาประทับแรมที่วัดแห่งนี้ ได้ทรงประทานนาวัดให้ใหม่ว่า ‘วัดสังฆราชาวาส’
ภายหลังอุปสมบทได้ ๑๐ พรรษาได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสืบต่อจากพระอธิการสอน ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์เจ้าคณะหมวด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ ‘พระครูเกศีวิกรม’ ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอบางพุดทรา และในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น ‘พระครูสิงหราชมุนี’ ตำแหน่งเจ้าคณะสิงห์บุรีต่อจากหลวงพ่อใย วัดระนาม
พระครูเกศีวิกรม (พูล) หรือในสมณศักดิ์สุดท้าย ‘พระครูสิงหราชมุนี’ ก่อนมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
เมื่อครั้งที่พระครูพิพิธสุตการ (แม้น ธมฺมธาโร) มีอายุได้ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟให้คุณโยมตา ชื่อ ไร้ วงศ์ละม้าย ณ วัดธรรมสังเวช ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี บรรพชาแล้วไม่สึกจนอายุครบ บวช ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเสาธงทอง ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ มีพระครูเกศีวิกรม (พูล) วัดสังฆราชาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเตี้ยม วัดราษฎร์ประสิทธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดทรัพย์ วัดเสาธงทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พ.ศ. ๒๔๗๕ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี, โท, เอก เป็นลำดับ สุดท้ายได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลบางมัญเขต ๒ และแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ อายุได้ ๘๓ ปี นับพรรษาได้ ๖๘ พรรษา
ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรากฏบนแผ่นจารึกวัดเสาธงทอง
มีผู้กล่าวว่า
“หลวงพ่อแม้นเป็นนักปฏิบัติเป็นพระที่มีอาจารย์ เป็นพระที่สร้างความดีความชอบมาเป็นเวลาช้านานรูปหนึ่ง ขณะที่เป็นพระลูกวัดหรือเป็นเจ้าอาวาส ทุกเช้าเย็นหลวงพ่อจะทำวัตรสวดมนต์ลงอุโบสถสังฆกรรม และถือโอกาสแนะนำพระภิกษุสามเณรภายในปกครองให้ปฏิบัติเรื่องธรรมวินัย และกิจวัตรของพระสงฆ์อย่างไม่เกินเลย หรือขาดบกพร่องทั้งในยามเทสกาลเข้าพรรษาและออกพรรษา ท่านจะอบรมพระภิกษุสามเณรและอุบาสถ อุบาสิกา ด้วยเรื่องพระพุทธศาสนาสัมมาปฏิบัติและกิจวัตรที่พึงกระทำ เช้าวันพระทุกวันพระ ท่านจะแนะนำญาติโยมที่มาทำบุญกุศลด้วยธรรมปฏิบัติอย่างเหมาะสม เคยลงเทศกัณฑ์อุโบสถด้วยธรรมะที่สมควรแก่ภาวะ ทั้งของคฤหัสทั้งของบรรพชิต จนสามารถทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมต่างๆดังที่กล่าวมาหลวงพ่อแม้นได้กระทำดีมา โดยตลอดชีวิตของท่าน”
กล่าวสำหรับวัตถุมงคลของพระครูพิพิธสุตการ (แม้น ธมฺมธาโร) ได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือน
ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระครูพิพิธสุตการ (แม้น ธมฺมธาโร) นั่งสมาธิเต็มรูป ด้านบนมีอักษรไทยว่า ‘พระครูพิพิธสุตการ (แม้น)’ ด้านล่างว่า ‘เจ้าคณะตำบลบางมัน ๒’
ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระขอมในขมวดมุมยันต์ว่า ‘นะ โม พุท ธา ยะ’ ด้านบนยันต์เป็น ‘อุ’ และอักษรไทยว่า ‘วัดเสาธงทอง’ ด้านล่างว่า ‘อายุครบ ๖๐ ปี’
และเมื่อมีอายุครบ ๖ รอบ ๗๒ ปี ได้จัดสร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนกลมขึ้นมาอีก
ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระครูพิพิธสุตการ (แม้น ธมฺมธาโร) ครึ่งรูป ด้านบนมีอักษรไทยว่า ‘พระครูพิพิธสุตการ (แม้น) อายุครบ ๖ รอบ’
ด้านหลัง เป็นยันต์พุทธซ้อน มีอักขระขอมว่า ‘นะ ชา ลิ ติ’ และ ‘อัง อุ’ มีอักษรไทยว่า ‘เจ้าคณะตำบลบางมัญ เขต ๒ วัดเสาธงทอง อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เสาร์ห้า’
นอกจากนั้นยังมีพระสมเด็จรูปเหมือน ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดเสาธงทอง