ประวัติ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง
หลวงพ่อแฉ่ง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค. 2428 ตรงกับขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นบุตรของนายสิน นางขลิบ รัตนบุญสิน บรรพชาเมื่อ อายุ 12 ปี และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
หลวงพ่อแฉ่ง เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความสำคัญในอดีต ด้วยความที่มีอาคมขลัง มีพลังทางจิตแก่กล้ายิ่ง เป็นพระปฏิบัติเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐานในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้คงแก่เรียนจนทำให้ชื่อเสียงระบือไกล
หลวงพ่อแฉ่ง เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมขลังมาจากเกจิชื่อดังต่าง ๆ หลายรูปและได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชามาอย่างหมดใส้หมดพุง ทั้ง หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (คลองด่าน) หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน หลวงปู่ฉาย วัดพนัญเชิง คณาจารย์สาย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหลวงพ่อแฉ่งให้ความเคารพนับถือ หลวงพ่อปานวัดบางนมโค จ.อยุธยา มากเป็นพิเศษ ในฐานะลูกศิษย์และสหายธรรมรุ่นน้อง จึงได้รับอิทธิพลพระพิมพ์ทรงสัตว์ต่าง ๆ มาจากหลวงพ่อปานด้วย ซึ่งท่านได้นำมาพิมพ์แจกจ่ายญาติโยม ได้รับความนิยมเช่าบูชากันมาก
สมัยหลวงพ่อแฉ่งยังมีชีวิตอยู่ วัดบางพังในอดีตคึกคักกว่าวัดอื่น ๆ ในระแวกใกล้เคียง แต่ละวันมีผู้คนมากหน้าหลายตาเดินทางมาจากถิ่นต่าง ๆ มาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับหลวงพ่อแฉ่งจนรับไม่หวาดไหว บางคนก็มาขอวัตถุมงคล บางคนก็มารักษาโรค บางคนก็มาปรึกษาขอความช่วยเหลือสารพัด เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าหลวงพ่อแฉ่งท่านช่วยได้
ผู้ที่ไปขอเรียนคาถาอาคม หลวงพ่อแฉ่งจะให้หัดนั่งสมถวิปัสนากรรมฐานก่อน เมื่อเห็นว่าพอไปได้ จึงจะให้รับนิสัยธรรมข้อหนึ่งที่หลวงพ่อจะอบรมสั่งสอนให้จำขึ้นใจ (เข้าใจว่าเป็นคุณธรรมประจำใจหรือธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง) จากนั้นจึงจะบอกตัวคาถาและเคล็ดวิชาต่าง ๆ ให้ การเรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่อแฉ่ง ท่านสอนยศิษย์ทั้งเรียนผูกและเรียนแก้ เพื่อป้องกันแก้ไขและช่วยเหลือคนที่มีทุกข์ถูกคุณไสยให้พ้นภัย เรียกว่าครบเครื่องเลยทีเดียว
หลวงพ่อแฉ่ง มรณภาพ วันที่ 26 ก.ค. 2500 รวมสิริอายุ 72 ปี 52 พรรษา สังขารของท่าน สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม โปรดให้เคลื่อนไป พระราชทานเพลิงอย่างสมเกียรติ เมื่อ 11 พ.ค. 2501 ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ โดยในงานศพของหลวงพ่อแฉ่ง มีการปั้มเหรียญรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแจกเป็นที่ระลึกด้วย
ประวัติวัดศรีรัตนาราม (บางพัง)
วัดศรีรัตนาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันทั่วไปว่า “วัดบางพัง” ตั้งอยู่ เลขที่ 39 บ้านคลองบางพัง ซอยสวัสดี หมู่ที่ 2 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สังกัดมหานิกาย เป็นวัดโบราณสร้างครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ. 2305 ไม่ทราบนามผู้สร้างชัดเจน ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดบางพัง” ตามท้องที่ที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี สาเหตุที่ชื่อวัดบางพังนั้นผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะพื้นดินริมตลิ่งแถบบริเวณนั้นพังมากเป็นบริเวณกว้างมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงได้เรียกกันว่าตลิ่งพังแล้วและกลายมาเป็นบางพังในที่สุด วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีทางรถยนต์ตัดเข้าถึงวัดทำให้การคมนาคมไปมาหาสู่กันสะดวกมากขึ้น
ข้อมูลเจ้าอาวาสวัดบางพังจากอดีต-ปัจจุบัน
รูปที่ 1 พระอธิการเจริญ
รูปที่ 2 หลวงพ่อแฉ่ง ศิลปัญญา
รูปที่ 3 พระอธิการประมวล ปวัฑฒโน
รูปที่ 4 พระอธิการอินทร์ อกตมโล เจ้าอาวาสปัจจุบัน
วัตถุมงคลของหลวงพ่อแฉ่ง
หลวงพ่อแฉ่ง อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพัง นับเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังผู้ทรงพุทธาคมรูปหนึ่งในอดีต ในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดัง ๆ เช่น พิธีที่วัดราชบพิธ พ.ศ. 2481 พิธีพุทธภิเษกพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ในการพุทธาภิเษกพระกริ่งในเจ้าคุณศรีฯ วัดสุทัศน์ จะต้องนิมนต์พระหลวงพ่อแฉ่งร่วมปลุกเสกทุกครั้ง
วัตถุมงคลหลวงพ่อแฉ่งมีมากมาย ทั้งพระเนื้อผงพิมพ์ทรงสัตว์ต่าง ๆ มีหลายประเภททั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์สามเหรียญ เนื้อผง พระรอด ตะกรุด ผ้ายันต์ธง ทรายเสก พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระประจำวัน นางกวัก พระพุทธกวัก สามเหลี่ยม พระสิวลีชนิดบูชา-คล้องคอ เนื้อหามีทั้ง ดิน ผงน้ำมัน ผงพุทธคุณ แต่ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ คือ ชนิดผงน้ำมัน เพราะเนื้อหาดูง่าย เนื้อจัด หนึกนุ่ม ส่องแล้วสบายตา ราคาสบายใจไม่แพงมาก
แรงจูงใจในการจัดสร้าง บรรดาศิษย์และผู้ใกล้ชิดที่ศรัทธาพร้อมใจกันขอให้หลวงพ่อสร้างอิทธิวัตถุ เพื่อเป็นของที่ระลึกและคุ้มครองป้องกันภัย ประกอบกับในระยะนั้นสงครามมีท่าทีเกิดขึ้น ผู้คนเริ่มเสาะแสวงหาวัตถุมงคลไว้คุ้มกันตัว และเพื่อตอบแทนชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างถาวรวัตถุสิ่งต่าง ๆ ภายในวัด หลวงพ่อแฉ่งได้สร้างวัตถุมงคลในปี พ.ศ.2484 แจกให้ศิษย์และชาวบ้านที่ศรัทธา
จำนวนจัดสร้าง วัตถุมงคลสร้างขึ้นมีจำนวนเท่าไร ไม่มีใครทราบ เพราะมิได้มีการจดบันทึกไว้ เป็นการทยอยสร้างทยอยปลุกเสก พอสร้างได้จำนวนมากพอสมควรแล้วท่านก็จะทำพิธีปลุกเสกสักครั้งหนึ่ง เป็นการปลุกเสกเดี่ยว จากนั้นจึงนำมาแจกเสียคราวหนึ่ง จำนวนพระทั้งหมดสันนิษฐานกันว่าประมาณหนึ่งหมื่นองค์เศษ ๆ วัตถุมงคลที่ท่านสร้างนั้น แจกฟรี ไม่มีการให้เช่าบูชา
ดีด้านไหน วัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างและปลุกเสก มีประสบการณ์โจษขานในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งโดดเด่นด้านแคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ ด้านเมตตามหานิยมก็ไม่เป็นรองใคร นอกจากนี้ยังใช้เป็นพระหมอแบบพระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้อีกด้วย
ลักษณะและสีเนื้อพระ พระเนื้อผงที่หลวงพ่อแฉ่งสร้างขึ้นเป็นเนื้อประเภทปูนปั้นไม่ได้เผาไฟ ส่วนผสมหลักคือปูนขาวจากเปลือกหอยและน้ำมันตังอิ๊ว นอกนั้นก็เป็นผงวิเศษ 5 ประการ คือ ผงอิธะเจ ผงปถะมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห นอกนั้นก็มีเกสรดอกไม้ที่ชื่อเป็นมงคลนาม ทรายเสก และข้าวสุก เป็นต้น กรรมวิธีใช้โขลกตำเนื้อพระและส่วนผสมตลอดจนการกรองผงมีความประณีตบรรจงมาก เนื้อละเอียดเนียนเข้ากันสนิท การผสมน้ำมันตังอิ๊วก็พอดี เนื้อพระแลดูนุ่มตาฉ่ำใส สีเหลืองเข้มกว่าสีของเนื้อพระกรุวัดคู้สลอดเล็กน้อย (กรณีไม่บรรจุกรุ) เรียกขานกันว่าเนื้อเทียนชัย เพราะสีของเนื้อพระแลดูคล้ายเทียนขี้ผึ้งสีเหลืองนั่นเอง แต่แลดูฉ่ำใส มีความซึ้งมากกว่าเทียน สามารถแลเห็นส่วนผสมภายในที่ลึกลงไปได้ด้วยแว่นขยาย
แยกพิมพ์ทรง พระเนื้อผงที่หลวงพ่อสร้างมีกี่แบบกี่พิมพ์ไม่มีใครตอบได้ ทางวัดก็ไม่เก็บข้อมูลไว้ ส่วนใหญ่ก็รู้เท่าที่ตัวเองมีอยู่ และหนังสือลงข้อมูลกันไว้ หากจะแยกย่อยออกไปจริง ๆ น่าจะมีมากกว่า 30 พิมพ์ แม้ว่าพิมพ์หลัก ๆ จะมีอยู่ประมาณ 10 พิมพ์ แต่ในพิมพ์หลัก ๆ นั้นก็ยังแยกย่อยออกไปอีก ยกตัวอย่างเช่น พิมพ์ทรงหนุมานไม่ถือพระขรรค์ ถือพระขรรค์ข้างซ้าย ถือพระขรรค์ข้างขวา มีครอบแก้ว ไม่มีครอบแก้ว เป็นต้น แต่จะหาผู้ที่เก็บรวบรวมได้ครบจริง ๆ ยังไม่เคยเห็น ยิ่งปัจจุบันเข้าสนามว่าหาของแท้ของท่านยากแล้ว ให้แท้และสวยยิ่งยากเป็นเท่า ๆ ตัว เพราะพระของท่าน เนื้อค่อนข้างเปราะ แตกหัก ชำรุดง่าย ผู้ที่มีควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ