ประวัติ หลวงพ่ออาจ วัดดอนไก่ดี

ประวัติ หลวงพ่ออาจ วัดดอนไก่ดี

หลวงปู่อาจ วัดดอนไก่ดี หรือ พระครูสังวรศีลวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนไก่ดี ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านกระทุ่มแบน หลวงปู่อาจท่านเกิดเมื่อเดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๑๐ แต่ไม่ปรากฏบันทึกชื่อของโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

เมื่อในเยาว์วัยท่านเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดกว่าเด็กทั่วไป โยมบิดาจึงได้นำท่านไปนำฝากไว้กับพระอธิการโป๊ เจ้าอาวาสวัดดอนไก่ดี เพื่อเรียนหนังสือ

ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงปู่อาจ ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดดอนไก่ดี ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า “ธมฺมสาโร” โดยมี

พระอธิการแสง วัดนางสาว เป็นพระอุปัชฌาย์

พระอธิการโป๊ วัดดอนไก่ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดดอนไก่ดีเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ศัมภีร์มูลกัจจายน์ ตลอดจนความรู้ต่างๆ จนแตกฉาน นอกจากนี้ท่านยังออกเดินรุกขมูลกับหลวงพ่อแสง เพื่อศึกษาวิชาอาคมอีกด้วย

ต่อมาท่านได้มาฝากตัวเป็นศิษย์เจ้าอธิการนุต หรือ หลวงปู่เฒ่าเก้ายอด วัดบางปลา ศึกษาวิปัสสนาธุระ ตลอดจนคาถาอาคม กระทั่งสามารถออกเดินธุดงค์ไปที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

และผลจาการที่ท่านเดินธุดงค์นี้เอง ทำให้ท่านได้พบกับพระอาจารย์มากมายหลายรูป ได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนวิชาเพิ่มเติม โดยเฉพาะวิชาทางตำรายาสมุนไพร ท่านร่ำเรียนวิชาสมุนไพรจนสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากมายตลอดระยะทางที่ท่านเดินธุดงค์ผ่าน

หลังจากที่ท่านได้เดินธุดงค์ไปตามที่ต่างๆแล้ว หลวงปู่อาจ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดดอนไก่ดี จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งท่านเป็นกำลังหลักในการพัฒนาดูแลวัดดอนไก่ดีเสมอมา

ครั้งต่อมาท่านพระอธิการโป๊ เจ้าอาวาสวัดดอนไก่ดีได้ถึงแก่มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์และคณะกรรมการวัดรวมถึงชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่อาจ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนไก่ดี สืบแทนตำแหน่งที่ว่างลง

หลังจากที่หลวงปู่อาจ ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้หลวงปู่อาจ ท่านยังเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาของบุตร-ธิดาของชาวบ้านในพื้น ท่านจึงได้ทำการสร้างโรงเรียนวัดดอนไก่ดี (สังวรจันทรสรราษฎรวิทยา) ขึ้นร่วมกับหลวงพ่อฮะ จนฺทสโร ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน

กาลต่อมาด้วยคุณงามความดีของหลวงปู่อาจ ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ที่พระครูสังวรศีลวัตร และยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอกระทุ่มแบน และต่อมาได้เป็นเจ้าคณะอำเภอกิติมศักดิ์อีกด้วย

ความเข้มขลังของท่านในวิชาอาคมเป็นที่ประจักษ์มิต้องสงสัยในบรรดาศิษย์ทั้งปวง ท่านมีศิษย์เอกผู้สืบทอดพุทธาคมอย่างครบถ้วนคือ หลวงพ่อฮะ วัดดอนไก่ดี ซึ่งผู้เป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกพิธี ๒๕ พุทธศตวรรษ

นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง หลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง ซึ่งทั้ง ๒ หลวงพ่อนั้นท่านก็เป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก

รวมทั้งการที่หลวงปู่อาจ ท่านได้รับนิมนต์ไปปลุกเสกวัตถุมงคล ณ วัดราชบพิธ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และพิธีปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน ณ วัดสุทัศน์ฯ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึงความเก่งกาจของท่านเป็นอย่างดี

หลวงปู่อาจ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นับรวมสิริอายุได้ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา.