ประวัติ หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่

หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิตฺโต ( พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ )
หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี พระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ผู้มีอายุยืนยาว ๕ แผ่นดิน
#วัดดอนไร่
วัดดอนไร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ในปี พ.ศ.2456 ภายใต้การนำของท่านผู้ใหญ่ยาและนางบู่ ต้นตระกูล ยาสุขแสง ได้นำชาวบ้านหักร้างถางดงบนที่ดอนแห่งหนึ่งในหมู่บ้านหนองตม อันเป็นไร่เก่าของนายสี นางพูน และนายแก้ว นางหมอน แล้วสร้างเป็นวัดขึ้นตรงไร่ดังกล่าวเรียกว่า วัดดอนไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวบ้านหนองตม
วัดดอนไร่เป็นวัดที่ใหญ่โตอีกวัดหนึ่งในปัจจุบัน
ด้วยได้รับความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาของบรรดาพุทธศาสนิกชนและเจ้าอาวาสของวัดทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน
และหากกล่าวถึงวัดดอนไร่แล้วบุคคลส่วนใหญ่จะต้องนึกถึงพระครูสุวรรณวุฒาจารย์ หรือหลวงพ่อมุ่ย พุทฺธรักฺขิโต อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนไร่ และเจ้าคณะตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วประเทศไทย วัตถุมงคลของท่านทุกรุ่น ทุกพิมพ์ ต่างก็ได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการของบุคคลทั้งหลาย
หลวงพ่อมุ่ย พุทฺธรักฺขิโต พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ พระคณาจารย์ยุคกึ่งพุทธกาลที่เกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกรูปหนึ่ง ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านทุกรุ่นได้รับความนิยมกันมาก
เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2431 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ณ.บ้านดอนไร่ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นบุตรของพ่อเหมือน แม่ชัง มีศรีไชย มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ
1. นางน้ำอ้อย จันทร์สุวรรณ
2. นางน้ำตาล จีนสุกแสง
3. นายช่อง มีศรีไชย
4. นายเชื่อม มีศรีไชย (หลวงพ่อมุ่ย พุทฺรักฺขิโต)
5. นางสาคู มีศรีไชย
วัยเด็ก
เนื่องด้วยครอบครัวของท่านมีอาชีพทำไร่ทำนา ในวัยเด็กของท่านจึงมีชีวิตตามประสาเด็กชนบททั่วไป โดยช่วยเหลือครอบครัวในการเลี้ยงควาย เป็นต้น
วัยหนุ่ม
เมื่อวัยหนุ่มท่านได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ผลว่าท่านถูกเกณฑ์เป็นทหารและทางอำเภอได้ส่งตัวท่านไปยังจังหวัด แต่ท่านก็ต้องถูกส่งตัวกลับมาด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบ สรุปคือท่านไม่ได้เป็นทหารแน่นอน
อุปสมบท
ภายหลังจากการเกณฑ์ทหารเรียบร้อยแล้ว ท่านได้เข้ารับการอุปสมบทตามธรรมเนียมประเพณีของคนไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2452 ณ. พัทธสีมาวัดท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี
พระครูศีลกิติ ( หลวงพ่อกฤษณ์ ) วัดท่าช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอนุสาวนาจารย์ไม่ทราบชื่อ
ในช่วงนี้ท่านได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆจากพระอาจารย์ต่างๆอยู่พอสมควร
ท่านอุปสมบทได้ประมาณ10กว่าพรรษา ท่านก็ได้ลาสิกขาบท เพื่อมาช่วยบิดามารดาซึ่งชราทำไร่นา ในช่วงนี้ท่านได้เกิดล้มป่วยแทบเอาชีวิตไม่รอด ยากจะดูแลรักษาให้หายได้ ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า หากหายจากอาการเจ็บป่วย จะฝากกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนาตลอดไป
เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักต่อมาอาการเจ็บป่วยของท่านก็ได้หายไป และช่วงนี้ท่านก็ได้เปลี่ยนชื่อจาก เชื่อม มาเป็น มุ่ย สรุปแล้วท่านลาสิกขาบทมาได้ไม่กี่เดือนก็อุปสมบทใหม่เป็นครั้งที่สอง
ท่านได้อุปสมบทเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2465 เวลา 15.30 น. ณ. พัทธสีมาวัดตะค่า(วัดดอนบุบผารามในปัจจุบัน) ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี
พระครูธรรมสารรักษา (หลวงปู่อ้น) วัดดอนบุบผาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ทวน วัดบ้านกร่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์กุล วัดดอนบุบผาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับชื่อทางพระพุทธศาสนาจากพระอุปัชฌาย์ว่า พุทฺธรักฺขิโต