ประวัติ หลวงพ่อนุ้ย วัดอัมพาราม

ประวัติ หลวงพ่อนุ้ย วัดอัมพาราม

พ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ วัดอัมพาราม (วัดม่วง) พระเกจิผู้เชี่ยวชาญวิปัสนากรรมฐาน และบรรลุธรรมขั้นสูงแห่งเมืองสุราษฎร์ธานี

◉ ชาติภูมิ
พ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ นามเดิมชื่อ “นุ้ย” ไม่ทราบนามบิดามารดาและนามสกุล เกิดเมื่อ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๑ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กำเนิด ณ บ้านบางคราม แขวงเสวียด เมืองไชยา พื้นที่บ้านเดิมของท่านตั้งอยู่ใกล้วัดบางคราม (ม.๒ ต.ปากฉลุย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน)

วัยเด็กเมื่ออายุได้ ๘ ขวบ ได้เข้ารับการศึกษาอักขระสมัย ขอม-ไทยในสำนักของพระอธิการพัฒน์ วัดประตูใหญ่ แขวงเสวียดเมืองไชยา (ต.เสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี) จนจบหลักสูตรอักขระสมัยเบื้องต้น สามารถอ่านออกเขียนได้

◉ บรรพชา
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี พ.ศ.๒๔๑๓ได้ลาบิดามารดาเข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดประตูใหญ่ โดยมี พระอธิการพัฒน์ เป็นพระอาจารย์บรรพชาสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ได้ศึกษาพระธรรม ควบคู่กับการศึกษาวิชาบางประการมาเรื่อยๆ

◉ อุปสมบท
เป็นสามเณรมาตลอดจนอายุได้ ๒๐ ปี ตรงกับ พ.ศ.๒๔๒๑ ปีขาล จึงได้ญัตติจากสามเณรอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดประตูใหญ่ โดยมี พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว (ทองอยู่) เจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พ่อท่านนวล วัดท่าเสวียด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการพัฒน์ วัดประตูใหญ่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “สุวณฺโณ” แปลว่า “ผู้มีวรรณะดั่งทองคำ”

◉ การศึกษาทางธรรม ธุดงค์ และวิทยาคม
ในเบื้องต้นศึกษาพระธรรม ณ วัดประตูใหญ่ ในสำนักของพระอธิการพัฒน์ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ตลอดจนญัตติอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ระหว่างศึกษาพระธรรมอยู่นั้น ท่านได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆควบคู่ไปด้วย จากพ่อท่านแก้ว วัดประตูใหญ่ เพราะในสมัยนั้นวัดประตูใหญ่มีพระอาจารย์ที่แก่กล้าวิทยาคมอยู่ถึง ๒ รูป คือ พ่อท่านพัฒน์ และ พ่อท่านแก้ว ต่อมาเมื่อมีวิชาพอตัวสามารถพึ่งพาตนได้ ท่านคิดฝักใฝ่ในธุดงควัตรหาประสบการณ์ในเพศบรรพชิต ท่านจึงกราบลาพระอาจารย์ทั้งสองออกจ่ริกธุดงค์ไปทางใต้ได้ไปศึกษาวิทยาคมในสำนักตรรกศิลาวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุงโดยศึกษากับพ่อท่านเจ้าสำนักเขาอ้อในสมัยนั้นจนแตกฉานในวิชาสายเขาอ้อเป็นอย่างมาก จากนั้นท่านเดินทางกลับมายังบ้านเกิด โดยมาศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และไสยศาสตร์ต่างๆเพิ่มเติม กับพ่อท่านมนต์ ธมฺมปาโล วัดอัมพาราม จนมีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน ต่อมาท่านได้จาริกธุดงค์ไปยังพุทธสถานต่างๆในประเทศไทย ประเทศพม่า และดินแดนพุทธภูมิประเทศอินเดีย ธุดงค์อยู่ระยะหนึ่งก็ได้กลับมาถิ่นฐานเดิมโดยได้ไปจำพรรษาที่สำนักไฟ บ้านปากฉลุย ซึ่งเป็นที่พำนักสงฆ์ในสมัยนั้น ท่านได้ใช้ความสามารถที่ท่านมีสงเคราะห์ญาติโยมในด้านต่างๆ อีกทั้งบริจาคที่ดินของทางครอบครัวที่เป็นส่วนของท่านให้เป็นที่ดินของวัดบางคราม ซึ่งต่อมาได้สร้างโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลขึ้น (โรงเรียนวัดบางครามในปัจจุบัน) ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ศีล เคร่งครัดพระธรรมวินัย และปฎิบัติกิจของสงฆ์มิได้ขาด จนเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนตั้งแต่จำพรรษาที่สำนักไฟ ต่อมาพ่อท่านมนต์ วัดอัมพารามได้มรณภาพ ชาวบ้านวัดม่วงต่างพร้อมใจกันไปนิมนต์พ่อท่านนุ้ยให้มาครองวัดอัมพารามต่อจากพ่อท่านมนต์ ท่านก็รับนิมนต์ย้ายมาจำพรรษาในฐานะเจ้าอาวาสวัดอัมพารามสืบต่อมา ท่านก็ได้ใช้วิชาความรู้ที่ท่านมีในการสงเคราะห์ญาติโยมในด้านต่างๆ โดยมีชื่อเสียงเลื่องลือด้านการแพทย์แผนโบราณ กล่าวคือการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคและอาการต่างๆโดยใช้ยาสมุนไพรบวกกับวิชาอาคม มีผู้คนมาหาเพื่อพึ่งบารมีมิได้ขาด ท่านก็ได้สงเคราะห์ให้หายทุกรายไป

◉ ศีลาจารวัตรของพ่อท่านนุ้ย
พ่อท่านนุ้ย ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ศีล เคร่งครัดในศีลและวัตรปฏิบัติ มีตบะเดชะ สมถะ ซึ่งเกิดจากการสวดมนต์และปฏิบัติสมาธิขั้นสูง ท่านเป็นคนใจคอดี เยือกเย็น มีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย สงเคราะห์แก่ ปวงชน ตลอดจนเหล่าศิษยานุศิษย์มิตรสหายของท่านในด้านต่างๆด้วยน้ำใจอันเที่ยงแท้ หนักแน่นในความยุติธรรม มีสัจจะวาจา และนอกจากนี้ยังมีวัตรอื่นๆที่ได้รับการจดบันทึกไว้ ได้แก่

พ่อท่านนุ้ยสรงน้ำปีละครั้ง นับว่าเป็นวัตรที่แปลกประหลาดมาก จะทำพิธีสรงน้ำในวันสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี ซึ่งเดิมทีนั้นถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมในขั้นสูง เจริญด้วยเมตตา และอำนาจฌานสมาธิที่แก่กล้า เจริญด้วยเมตตาต่อบรรดาสรรพสัตว์ต่างๆ ทำให้เชื้อโรคและจุลินทรีย์ไม่กล้าเบียดเบียนท่าน เนื่องจากท่านตั้งอยู่ในคุณธรรมข้อที่ว่าไม่เบียดเบียนชีวิตซึ่งกันและกันจนเป็นผลทำให้มรณภาพไปแล้วร่างกายสังขารไม่เน่าไม่เปื่อย เพราะบรรดาสรรพสัตว์เหล่านี้ไม่รบกวนยังเปรียบเสมือนเกราะคุ้มครองป้องกันร่างท่านไว้ และจากการศึกษาประวัติของพระอริยสงฆ์หลายท่านที่มีวิชาที่แก่กล้าหรือคุณวิเศษบางอย่าง พบว่าบางท่านได้สรงน้ำปีละครั้งเช่นกัน บางท่านอาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือ ๓ เดือนครั้งก็มี พระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติเช่นนี้ เช่น พ่อท่านขำ รตโน วัดหนองไทร อ.พุนพิน พ่อท่านเขียว ญาณสุทฺโธ วัดวิโรจนาราม (ปากหมาก) อ.ไชยา ซึ่งพ่อท่านเขียวเป็นลูกศิษย์ของพ่อท่านนุ้ย มีวัตรปฏิบัติและคุณวิเศษเหมือนพ่อท่านนุ้ยหลายประการ เป็นต้น