ประวัติ หลวงพ่อทอง วัดคีรีนาถบรรพต

หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต (เขากบ) พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่ทรงคุณวิเศษ พุทธาคมเข้มขลังแห่งเมืองปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต (เขากบ) เท่าที่ฟังจากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ใกล้ชิดพอจะได้ความว่าเป็นชาวทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ รุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

แม้แต่ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์ ยังให้ความเคารพ

หลวงพ่อทอง วัดเขากบ ชอบการธุดงค์ จนได้มาพบที่รกร้าง กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบกันมาว่า

คราหนึ่ง มีพระธุดงค์รูปหนึ่งนามว่าทอง เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ข้างหมู่บ้านเชิงเขาแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ ทุกเช้าจะเดินบิณฑบาต

จนวันหนึ่งไปพบเจดีย์ใหญ่เก่าแก่มาก จึงตรงไปที่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อสอบถาม พบสองตายายจึงถามว่า “ชื่ออะไร ที่ดินแปลงนี้เป็นของใคร”

ตาตอบว่า “พระคุณเจ้า ชื่อตากบ อยู่ด้วยกันกับยายเขียด ที่แห่งนี้เป็นของฉันเอง มีอยู่ร้อยไร่เศษ กว้างคลุมยอดเขานั่นเทียว ส่วนเจดีย์นั้นเป็นเจดีย์เก่าแก่ ชาวบ้านแถบนี้นับถือกันมาก หากจะใช้ที่ดินแห่งนี้เป็นที่พำนัก ก็ยินดีถวายให้เป็นที่สร้างวัด เพราะฉันกับยายก็แก่มากแล้ว”

ต่อมาชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างกุฏิเล็กๆ ก่อนสร้างอุโบสถและศาลาขึ้น ต่อมาเมื่อตากบและยายเขียดถึงแก่กรรม หลวงพ่อจึงกำหนดที่ดินทั้งหมดเป็นที่ดินของวัด และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดเขากบ” ตามชื่อเจ้าของที่ดิน

หลังจากการฌาปนกิจศพตายายแล้ว ท่านได้ให้ช่างปั้นรูปจำลองทั้งคู่ไว้ที่หน้าอุโบสถ เพื่อเป็นที่ระลึก ปรากฏอยู่กระทั่งทุกวันนี้

เนื่องจากในสมัยนั้น เชิงเขากบเป็นป่าสักมากมาย หลวงพ่อทอง จึงตั้งชื่อว่า เขากบทราวสีจอมคีรี ณ ป่าสัก

ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ ขณะนั้นเป็นเจ้าคณะมณฑล เห็นว่าวัดกบตั้งอยู่เชิงเขา จึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น วัดวรนาถบรรพต แปลได้ว่า ภูเขาซึ่งเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ

แต่ชาวบ้านยังคงเรียกว่า วัดกบ และ วัดเขากบ จนติดปากมาทุกวันนี้

หลวงพ่อทอง มีความเพียรอย่างแรงกล้า ลงมือทำงานและบูรณะวัดเขากบด้วยตัวท่านเอง โดยใช้เวลาบูรณะพระเจดีย์ ซึ่งยอดหักนานถึง ๑๐ ปี และทำโบสถ์อยู่ ๕ ปี ทั้งยังบูรณะวิหารพระนอน กำแพงวิหาร ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่ำลือถึงกิตติศัพท์มากมาย อาทิ เรื่องตกจากยอดเจดีย์แล้วไม่ได้รับบาดเจ็บ หรือการบิณฑบาตที่ใครๆ ก็ตามไม่ทัน เป็นต้น

ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ มีการจัดทดสอบวิทยาคมและพลังจิตของพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษจากสำนักต่างๆ ทั่วประเทศ ที่บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม มีพระเกจิเข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ กว่ารูป

งานนี้เรียกได้ว่า พิธีชุมนุมพระเกจิชื่อดังทั่วแดนสยาม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีสมเด็จพระสังฆราช (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ผลปรากฏว่า ๑๐ สุดยอดพระเกจิคณาจารย์ ผู้มีความความเข้มขลังในวิทยาคมและพลังจิตสูงสุดแห่งสยาม ยุค พ.ศ.๒๔๕๒ ประกอบด้วย หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม, หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน (วัดบางเหี้ย) จ.สมุทรปราการ, หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี, หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ จ.ชุมพร และ หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต (เขากบ) จ.นครสวรรค์

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อทอง พัฒนาวัดเขากบจนเจริญรุ่งเรือง และจำพรรษาอยู่ตลอดอายุขัย มรณภาพวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๔ สิริอายุเกือบ ๘๐ ปี

ยังความโศกเศร้ามาสู่ชาวนครสวรรค์และบรรดาลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมใจกันหล่อ “รูปเหมือนเท่าองค์จริง” ของท่านไว้ในวิหาร ทุกวันนี้สาธุชนทั้งใกล้และไกลยังคงแวะเวียนมากราบสักการะขอพรอยู่เป็นประจำ

ด้วยความที่หลวงพ่อทองเป็นพระสมถะ รักสันโดษ เคร่งในวัตรปฏิบัติ จึงไม่ชอบสร้างวัตถุมงคล ไม่ชอบถ่ายรูป เท่าที่ทราบในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่จะมีเพียง “ลูกอมและการรดน้ำมนต์” อันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักเป็นหลัก แม้แต่รูปถ่ายท่านก็ไม่ยอมให้ใครถ่าย มีคนมาแอบถ่ายก็ไม่ติด จนลูกศิษย์ต้องขอร้องเพื่อขอเก็บไว้เป็นที่ระลึกท่านจึงอนุญาต ซึ่งจะมีเพียงภาพเดียวและครั้งเดียวเท่านั้น คือ ภาพที่ท่านกำลังนั่งบนธรรมาสน์ กำลังถือใบลานเทศน์อยู่