ประวัติ หลวงปู่แขก ปภาโส วัดสุนทรประดิษฐ์

ประวัติ หลวงปู่แขก ปภาโส วัดสุนทรประดิษฐ์

ประวัติ ท่านเจ้าคุณพระมงคลสุธี ‘หลวงปู่แขก’ อายุ 94 ปี พระเกจิชื่อดังเมืองพิษณุโลก วัดสุนทรประดิษฐ์ เป็นที่รักและเคารพของลูกศิษย์ทั่วประเทศ ก่อนมรณภาพด้วยเส้นเลือดโป่งพองในสมองแตก…

หลังจากเหตุการณ์สุดเศร้า ‘หลวงปู่แขก ปภาโส’ พระเกจิชื่อดังเมืองพิษณุโลก วัดสุนทรประดิษฐ์ อายุ 94 ปี มรณภาพเพราะเส้นเลือดโป่งพองในสมองแตก จนสร้างความโศกเศร้าต่อลูกศิษย์ทั่วประเทศ ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

สำหรับประวัติ ท่านเจ้าคุณพระมงคลสุธี หรือ หลวงปู่แขก ปภาโส อายุ 94 ปี 70 พรรษา เจ้าอาวาสวัดสุนทรประดิษฐ์ อ.บางระกำ เกจิชื่อดังของเมืองพิษณุโลก มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วประเทศไทย แม้กระทั่งในต่างประเทศ มีนักการเมืองระดับชาติ, ทหารระดับสูง, นายตำรวจ, พ่อค้า, แม่ค้า และประชาชน ต่างให้ความเคารพและศรัทธา มีชื่อเสียงมากทางด้านการปลุกเสกวัตถุมงคลและปลุกเสกน้ำมนต์จนโอ่งแตก ทำให้โด่งดังไปทั่วทุกสารทิศทั้ง ภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้

ขณะที่ ท่านชำนาญในวิชา ‘กสิณไฟ’ ที่ได้ร่ำเรียนมาจากพระคณาจารย์ยุคเก่าของเมืองพิษณุโลก ปัจจุบันวัตถุมงคลของหลวงปู่แขก เป็นที่ต้องการแสวงหาของผู้ที่ชื่นชอบพระเครื่อง อาทิ เหรียญหลวงปู่แขกรุ่น 1, เหรียญนั่งพาน, เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์, พระพิมพ์สิงห์ป้อนเหยื่อฝักไม้ดำฝักไม้ขาว

นอกจากนี้ หลวงปู่แขก ยังสร้างถาวรวัตถุเอาไว้หลายอย่าง เช่น อุโบสถ, ศาลา, กุฏิ รวมถึงสร้างอาคารสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยใน ขนาด 60 เตียง พร้อมลิฟต์และระบบไปป์ไลน์ ตามแปลนของกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลบางระกำไว้ใช้ประโยชน์สำหรับบริการสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งสมัยนั้นมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธี ถือว่าเป็นผู้ที่ได้สร้างคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาด้วยความตั้งใจจริงและทุ่มเทเป็นอย่างมากอีกด้วย

สำหรับ อัตชีวประวัติ หลวงปู่แขก ชาติภูมิของพระมงคลสุธี (แขก ปภาโส) นามเดิม ลำยอง นามสกุล นาทีทองพิทักษ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ.2467 ตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือน 10 ปีชวด ที่บ้านกรุงกรัก ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บิดาชื่อ นายเฮง มารดาชื่อ นางพัน อาชีพทำไร่ มีพี่น้องรวม 7 คน การศึกษา เข้าโรงเรียนศาลาวัดกรุงกรักจบชั้นประถมปีที่ 4

เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว สนใจปฏิบัติธรรมจากพระไตรปิฎก และจากพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสอนกรรมฐานในที่ต่างๆ เช่น หลวงพ่อปุย วัดปากลัด บางตาโต อ.โพทะเล จ.พิจิตร และนั่งกรรมฐาน เช้าออกรับบิณฑบาตแล้วไม่เข้าวัด เดินเลยไปฉันในป่าช้ากลางป่า ในท้องทุ่งนาบ้าง ส่วนใหญ่ในป่าช้าที่มีหลุมฝังศพจะไปบ่อยครั้ง และฉันน้ำที่เป็นหลุมบ่อในป่านั้นเป็นประจำ แล้วรีบกลับวัดเพื่อนำพระเณรทำวัตรเช้าและเย็น

รวมทั้งได้ท่องอักขระเลขยันต์ วิชาศาสตร์กรรมฐานในสติปัฏฐานสูตร ฝึกดำน้ำวิปัสสนา จึงรู้วิธีกลั้นลมหายใจทางจมูกแล้วยังมีหายใจทางหูได้อีก ต่อมาปี พ.ศ.2500 พระครูพุทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดสุนทรประดิษฐ์ เจ้าคณะแขวงตำบลบางระกำ พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่แขก ได้มรณภาพลง ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ในระดับปกครอง จ.พิษณุโลก ให้ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดสุนทรประดิษฐ์

กระทั่ง ปี พ.ศ.2501 จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในปีเดียวกันนี้ พร้อมกับการแต่งตั้งให้ท่านทำหน้าที่เจ้าสำนักเรียนของวัด ในปี พ.ศ.2503 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอบางระกำ ในด้านสมณศักดิ์ หลวงปู่แขก ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นลำดับดังนี้ ปี พ.ศ.2503 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่พระครูประภาสธรรมาภรณ์

อย่างไรก็ตาม พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูสุนทรธรรมประภาส ปี พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม และปี พ.ศ.2552 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะสามัญ ในราชทินนามที่ พระมงคลสุธี จวบจนปัจจุบันถึงวันละสังขาร.