ประวัติ หลวงปู่ดู่ วัดสะแก
ชาติภูมิ
พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เดิม ชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พุ่ม ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้าย มีโยมพี่สาว ๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑ . พี่สาวชื่อ ทองคำ สุนิมิตร
๒ . พี่สาวชื่อ สุ่ม พึ่งกุศล
๓ . ตัวท่านหลวงปู่ดู่
ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น
ชีวิตในวัยเด็กของท่านดูจะขาดความอบอุ่นอยู่มาก ด้วยกำพร้าบิดา มารดาตั้งแต่เยาว์วัย นายยวง พึ่งกุศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของท่าน ได้เล่าให้ฟังว่า บิดามารดา ของท่านมีอาชีพทำนา โดยนอกฤดูทำนาจะมีอาชีพทำขนมไข่มงคลขาย เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นเด็กทารก มีเหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ คือในคืนวันหนึ่งซึ่งเป็นหน้าน้ำ ขณะที่บิดามารดาของท่านกำลังทอด “ขนมมงคล” อยู่นั้นท่านซึ่งถูกวางอยู่บนเบาะนอกชานคนเดียว ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปในน้ำ ทั้งคนทั้งเบาะแต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งที่ตัวท่านไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำจนไปติดอยู่ข้างรั้วกระทั่งสุนัขเลี้ยงที่บ้านท่านมาเห็นเข้าจึงได้เห่า พร้อมกับวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างตัวท่านกับมารดาท่าน เมื่อมารดาท่านเดินตามสุนัขเลี้ยงออกมา จึงได้พบท่านลอยน้ำติดอยู่ที่ข้างรั้ว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มารดาท่านเชื่อมั่นว่าท่าน จะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามากมาเกิด
มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ต่อมาบิดาของท่านก็จากไปอีกขณะท่านมีอายุได้เพียง ๔ ขวบเท่านั้น ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจำความไม่ได้ ท่านได้อาศัยอยู่กับยายโดยมีโยมพี่สาวที่ชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
สู่เพศพรหมจรรย์
เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก ขณะนั้นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีหลวงพ่อ ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า“พรหมปัญโญ”
ในพรรษาแรก ๆนั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าวัดประดู่โรงธรรม โดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และ หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น
ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น ท่านได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่น ผู้เป็นอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่สองประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่นมรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเภา เป็นสำคัญ นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่จากชาดกบ้าง จากธรรมบทบ้างและด้วยความที่ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้รักการศึกษา ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรี และสระบุรี
ประสบการณ์ธุดงค์
ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ ออกพรรษาแล้วท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่ป่าเขาทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี และแวะนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธฉายและ รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงเข้าพักปฏิบัติตามป่าเขาและถ้ำต่างๆ
หลวงปู่ดู่ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าเริ่มแรกที่ท่านขวนขวายศึกษาและปฏิบัตินั้น แท้จริงมิได้มุ่งเน้นมรรคผลนิพพานหากแต่ต้องการเรียนรู้ให้ได้วิชาต่างๆ เป็นต้นว่าวิชาคงกระพันชาตรี ก็เพื่อที่จะสึกออกไปแก้แค้นพวกโจรที่ปล้นบ้าน โยมพ่อโยมแม่ท่านถึง ๒ ครั้ง แต่เดชะบุญ แม้ท่านจะสำเร็จวิชาต่าง ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ท่านกลับได้คิด นึกสลดสังเวชใจตัวเองที่ปล่อยให้อารมณ์อาฆาตแค้นทำร้าย จิตใจ ตนเองอยู่เป็นเวลานับสิบ ๆ ปี ในที่สุดท่านก็ได้ตั้งจิตอโหสิกรรมให้แก่โจรเหล่านั้น แล้ว มุ่งปฏิบัติฝึกฝน อบรมตน ตามทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา อย่างแท้จริง
ในระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์อยู่นั้น ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าได้พบฝูงควายป่ากำลังเดินเข้ามาทางท่าน ท่านตั้งสติอยู่ครู่หนึ่งจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว หยุดยืนภาวนานิ่งอยู่ ฝูงควายป่าที่มุ่งตรงมาทางท่าน พอเข้ามาใกล้จะถึงตัวท่าน ก็กลับเดินทักษิณารอบท่านแล้วก็จากไป บางแห่งที่ท่านเดินธุดงค์ไปถึง ท่านมักพบกับพวกนักเลงที่ชอบลองของ ครั้งหนึ่งมีพวกนักเลงเอาปืนมายิงใส่ท่านขณะนั่งภาวนาอยู่ในกลด ท่านเล่าให้ฟังว่า พวกนี้ไม่เคารพพระ สนใจแต่ “ของดี” เมื่อยิงปืนไม่ออก จึงพากันมาแสดงตัวด้วยความนอบน้อม พร้อมกับอ้อนวอนขอ “ของดี” ทำให้ท่านต้องออกเดินธุดงค์หนีไปทางอื่น
การปฏิบัติของท่านในช่วงธุดงค์อยู่นั้น เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง ยอมมอบกายถวายชีวิตไว้กับป่าเขา แต่สุขภาพธาตุขันธ์ของท่านก็ไม่เป็นใจเสียเลย บ่อยครั้งที่ท่านต้องเอาผ้ามาคาดที่หน้าผาก เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ อีกทั้งก็มีอาการเท้าชารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่ละความเพียรสมดังที่ท่านเคย สอนลูกศิษย์ว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” ในการประพฤติปฏิบัตินั้น จำต้องยอมมอบกายถวายชีวิตลงไป ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามันไม่ดีหรือไม่ได้พบความจริงก็ให้มันตายถ้ามันไม่ตายก็ให้มันดี หรือได้พบกับความจริง” ดังนั้น อุปสรรคต่างๆ จึงกลับเป็นปัจจัยช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ
นิมิตธรรม
อยู่มาวันหนึ่ง ประมาณก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากหลวง ปู่ดู่สวดมนต์ทำวัตรเย็น และปฏิบัติกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อยแล้วท่านก็จำวัด เกิดนิมิตไปว่า ได้ฉันดาวที่มีแสงสว่างมาก ๓ ดวง ในขณะที่กำลังฉันอยู่นั้นก็รู้สึกว่ากรอบๆ ดี ก็เลยฉันเข้าไปทั้งหมด แล้วจึงตกใจตื่น
เมื่อท่านพิจารณาใคร่ครวญถึงนิมิตธรรมที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจขึ้น ว่าแก้ว ๓ ดวงนั้น ก็คือพระไตรสรณาคมน์นั่นเอง พอท่านว่า
“พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นในจิตท่าน พร้อมกับอาการปีติอย่างท่วมท้น ทั้งเกิดความรู้สึกลึก ซึ้งและมั่นใจว่า พระไตรสรณาคมน์นี้แหล่ะเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอามาเป็นคำบริกรรมภาวนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเน้นหนักที่การปฏิบัติ
หลวงปู่ดู่ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านว่า“ถ้าไม่เอา(ปฏิบัติ)เป็นเถ้าเสียดีกว่า” ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัด เป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นเมตตาอย่างสูง
สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ หรือมีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรม ก็คงจะได้เห็นกุศโลบายในการสอนของท่านที่จะโน้มน้าว ผู้ฟังให้วกเข้าสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่นครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้ท่านฟังใน เชิงว่ากล่าวว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก แทนที่ท่านจะเออออไปตามอันจะทำให้เรื่องยิ่งบานปลายออกไป ท่านกลับปรามว่า “เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องโลก แต่แก้ที่ตัวเรานี่เป็นเรื่องธรรม”
คำสอนของหลวงปู่ดู่ จึงสรุปลงที่การใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาทนั่นหมายถึงว่าสิ่งที่จะต้องเป็นไปพร้อมๆ กัน ก็คือ ความพากเพียรที่ลงสู่ภาคปฏิบัติ ในมรรควิถีที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ประมาท ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอว่า “หมั่นทำเข้าไว้ๆ”
อ่อนน้อมถ่อมตน
นอกจากความอดทน อดกลั้นยิ่งแล้ว หลวงปู่ดู่ ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) วัดสุทัศน์เทพวราราม หรือที่เราเรียกกันว่า “ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม” ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าหลวงปู่ดู่ ๑ พรรษา มานมัสการหลวงพ่อโดยยกย่องเป็นครูเป็นอาจารย์ แต่เมื่อท่านเจ้าคุณเสงี่ยม กราบหลวงพ่อเสร็จแล้วหลวงพ่อท่านก็กราบตอบ เรียกว่าต่างองค์ต่างกราบซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่พบเห็นได้ยากเหลือเกิน ในโลกที่ผู้คนทั้งหลายมีแต่จะเติบโตทางด้านทิฏฐิมานะ ความถือตัวอวดดี อวดเด่น ยกตนข่มท่าน ปล่อยให้กิเลสตัวหลงออกเรี่ยราด เที่ยวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้ว่าตนเก่ง โดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าถูกกิเลสขึ้นขี่คอพาบงการให้เป็นไป
หลวงปู่ดู่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักไหนๆ ในเชิงลบหลู่หรือเปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น ท่านว่า “คนดีน่ะเขาไม่ตีใคร” ซึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้ถือเป็นแบบอย่าง
หลวงปู่ดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร ท่านจะพูดย้ำอยู่แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท เช่น “ของดีอยู่ที่ตัวเรา หมั่นทำ (ปฏิบัติ) เข้าไว้” “ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต” “อย่าลืมตัวตาย” และ “ให้หมั่นพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นต้น
ใช้ชีวิตอย่างผู้รักสันโดษและเรียบง่าย
หลวงปู่ดู่ท่านยังเป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย แต่ก็น่าอัศจรรย์ เมื่อได้ทราบจากพระอุปัฏฐากว่าไม่พบว่า ท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด
มีผู้ปวารณาตัวจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลยอันจะเสียสมณะสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายได้เกิดความปลื้มปีติที่ได้ถวายแก่ท่าน ซึ่งในภายหลังท่านก็มักยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวมเช่นเดียวกับข้าวของต่างๆ ที่มีผู้มาถวายเป็นสังฆทาน โดยผ่านท่าน และเมื่อถึงเวลาเหมาะควรท่านก็จะจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบท และ ยังขาดแคลนอยู่
สิ่งที่ท่านถือปฏิบัติสม่ำเสมอในเรื่องลาภสักการะ ก็คือการยกให้เป็นของ สงฆ์ส่วนรวม แม้ปัจจัยที่มีผู้ถวายให้กับท่านเป็นส่วนตัวสำหรับค่ารักษาพยาบาลท่านก็สมทบเข้าในกองทุนสำหรับจัดสรรไปในกิจสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล
หลวงปู่ดู่ ท่านไม่มีอาการแห่งความเป็นผู้อยากเด่นอยากดังแม้แต่น้อย ดังนั้น แม้ท่านจะเป็นเพียงพระบ้านนอกรูปหนึ่งซึ่งไม่เคยออกจากวัดไปไหน ทั้งไม่มีการศึกษาระดับสูงๆ ในทางโลกแต่ในความรู้สึกของลูกศิษย์ทั้งหลาย ท่านเป็นดั่งพระเถระผู้ถึงพร้อมด้วยจริยวัตรอันงดงาม สงบ เรียบง่าย เบิกบาน และถึงพร้อมด้วยธรรมวุฒิที่รู้ถ้วนทั่วในวิชชาอันจะนำพา ให้พ้นเกิดพ้นแก่พ้นเจ็บพ้นตายถึงฝั่งอันเกษม เป็นที่ฝากเป็นฝากตายและฝากหัวใจของลูกศิษย์ทุกคน
ในเรื่องทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นา ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓๐ ไร่ ท่านก็ได้แบ่งให้กับหลานๆ ของท่าน ซึ่งในจำนวนนี้ นายยวง พึ่งกุศล ผู้เป็นบุตรของนางสุ่ม โยมพี่สาวคนกลางที่เคยเลี้ยงดูท่านมาตลอด ก็ได้รับส่วนแบ่งที่นาจากท่านด้วยจำนวน ๑๘ ไร่เศษ แต่ด้วยความที่นายยวง ผู้เป็นหลานของท่านนี้ไม่มีทายาท ได้คิดปรึกษานางถมยา ผู้ภรรยาเห็นควรยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ จึงยกที่ดินแปลงนี้ให้กับโรงเรียนวัดสะแก ซึ่งหลวงปู่ดู่ท่านก็อนุโมทนาในกุศลเจตนาของคนทั้งสอง
กุศโลบายในการสร้างพระ
หลวงปู่ดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา ก็เพราะเห็นประโยชน์ เพราะบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านมิได้จำกัดศิษย์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นคณะศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใฝ่ใจธรรมล้วนๆ หรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล” ทั้งนี้ ท่านย่อมใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามความเหมาะควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน
แม้ว่าหลวงปู่ดู่จะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่าน อธิษฐานจิตให้แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือการปฏิบัติดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านว่า “เอาของจริงดีกว่า พุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ สรณัง คัจฉามิ นี่แหละของแท้” ”
จากคำพูดนี้จึงเสมือนเป็นการยืนยันว่าการปฏิบัติภาวนานี้แหละเป็นที่สุดแห่งเครื่องรางของขลัง เพราะคนบางคนแม้แขวนพระที่ผู้ทรงคุณวิเศษอธิษฐานจิตให้ก็ตาม ก็ใช่ว่าจะรอดปลอดภัยอยู่ดีมีสุขไปทุกกรณี อย่างไรเสียทุกคนไม่อาจ หลีกหนีวิบากกรรมที่ตนได้สร้างไว้ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ กรรม
ดังนั้นจึงมีแต่ พระ “สติ” พระ “ปัญญา” ที่ฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว เท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้เท่าทันและพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและสิ่งกระทบต่างๆ ที่ เข้ามาในชีวิต อย่างไม่ทุกข์ใจ ดุจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเสมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางครั้งร้อนบางครั้งหนาว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามธรรมดาของโลก
พระเครื่องหรือพระบูชาต่างๆ ที่ท่านอธิษฐานปลุกเสกให้แล้วนั้น ปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เช่น แคล้วคลาดฯลฯ นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางโลกๆ แต่ประโยชน์ที่ท่านสร้างมุ่งหวังอย่างแท้จริงนั้นก็คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติ กรรมฐาน เป็นต้น นอกจากนี้แล้วผู้ปฏิบัติยังได้อาศัยพลังจิตที่ท่านตั้งใจบรรจุไว้ในพระเครื่องช่วยน้อมนำและประคับประคองให้จิตรวมสงบได้เร็วขึ้น ตลอดถึงการใช้เป็นเครื่องเสริมกำลังใจและระงับ ความหวาดวิตกในขณะปฏิบัติ ถือเป็นประโยชน์ทางธรรมซึ่งก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตของผู้ใช้ไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
จากที่เบื้องต้นเราได้อาศัยพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ และสังฆัง สรณัง คัจฉามิ คือยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จนจิตของเราเกิดศรัทธาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเรียกกันว่า ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าขึ้นแล้ว เราก็ย่อมเกิดกำลังใจขึ้นว่าพระพุทธองค์เดิมก็เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา ความผิดพลาดพระองค์ก็เคยทรงทำมาก่อน แต่ด้วยความเพียรประกอบกับพระสติปัญญาที่ทรงอบรมมาดีแล้ว จึงสามารถก้าวข้ามวัฏฏะสงสารสู่ความหลุดพ้น เป็นการบุกเบิกทางที่เคยรกชัฏให้พวกเราได้เดินกัน ดังนั้นเราซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับพระองค์ ก็ย่อมที่จะมีศักยภาพที่จะฝึกฝนอบรมกาย วาจาใจ ด้วยตัวเราเองได้เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาย วาจาใจ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนอบรมกันได้ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้ไหลไปตาม ยถากรรม
เมื่อจิตเราเกิดศรัทธาดังที่กล่าวมานี้แล้ว ก็มีการน้อมนำเอาข้อธรรมคำสอนต่างๆ มาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกจากใจตนจิตใจของเราก็จะเลื่อนชั้น จากปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลสขึ้น สู่กัลยาณชนและอริยชน เป็นลำดับ เมื่อเป็นดังนี้แล้วในที่สุดเราก็ย่อมเข้าถึงที่พึ่งคือตัวเราเอง อันเป็นที่พึ่งที่แท้จริงเพราะกาย วาจา ใจ ที่ได้ผ่านขั้นตอนการฝึกฝนอบรมโดยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญาแล้วย่อมกลายเป็น กายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต กระทำสิ่งใด พูดสิ่งใด คิดสิ่งใด ก็ย่อมหาโทษมิได้ถึงเวลานั้นแม้พระเครื่องไม่มี ก็ไม่อาจทำให้เราเกิดความ หวั่นไหว หวาดกลัว ขึ้นได้เลย
เปี่ยมด้วยเมตตา
นึกถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักครั้งสุดท้ายแห่งการปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ผู้อุปัฏฐากพระองค์อยู่ตลอดเวลาได้ห้ามมานพ ผู้หนึ่งซึ่งขอร้องจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะนั้น
พระอานนท์คัดค้านอย่างเด็ดขาดไม่ให้เข้าเฝ้า แม้มานพขอร้องถึง ๓ ครั้ง ท่านก็ไม่ยอมจนกระทั่งเสียงขอกับเสียงขัดดังถึงพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า“อานนท์ อย่าห้ามมานพนั้นเลยจงให้เข้ามาเดี๋ยวนี้” เมื่อได้รับอนุญาตแล้วมานพ ก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม จนบรรลุมรรคผลแล้วขอบวชเป็นพระสาวกองค์สุด ท้ายมีนามว่า “พระสุภัททะ”
พระอานนท์ท่านทำหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ไม่มีความผิดอันใดเลยแม้แต่น้อย ส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เข้าเฝ้านั้นเป็นส่วนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีประมาณ ย่อมแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสามโลกพระสาวกรุ่นหลังกระทั่งถึงพระเถระหรือครูบาอาจารย์ผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่มีเมตตา สูง รวมทั้งหลวงพ่อย่อมเป็นที่เคารพนับถือของชนหมู่มาก ท่านก็อุทิศชีวิตเพื่อกิจ พระศาสนา ก็ไม่ค่อยคำนึงถึงความชราอาพาธของท่าน เห็นว่าผู้ใดได้ประโยชน์จากการบูชาสักการะท่าน ท่านก็อำนวยประโยชน์นั้นแก่เขา
เมื่อครั้งที่หลวงปู่อาพาธอยู่ ได้มีลูกศิษย์กราบเรียนท่านว่า “รู้สึกเป็นห่วง หลวงปู่” ท่านได้ตอบศิษย์ผู้นั้นด้วยความเมตตาว่า “ห่วงตัวแกเองเถอะ” อีกครั้งที่ผู้เขียนเคยเรียนหลวงปู่ว่า “ขอให้หลวงปู่พักผ่อนมากๆ”
หลวงปู่ตอบทันทีว่า “พักไม่ได้ มีคนเขามากันมาก บางทีกลางคืนเขาก็มากัน เราเหมือนนกตัวนำ เราเป็นครูเขานี่ ครู..เขาตีระฆังได้เวลาสอนแล้วก็ต้องสอน ไม่สอนได้ยังไง” ชีวิตของท่านเกิดมาเพื่อเกื้อกูลธรรมแก่ผู้อื่น แม้จะอ่อนเพลียเมื่อยล้าสักเพียงใด ท่านก็ไม่แสดงออกให้ใครต้องรู้สึกวิตกกังวลหรือลำบากใจแต่อย่างใดเลย เพราะอาศัยความเมตตาเป็นที่ตั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ปฏิปทาของท่านเป็นดั่งพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธภูมิ ซึ่งเห็นประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ส่วนตนดังเช่น พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธภูมิอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระสุปฏิปันโน สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลวงปู่ดู่ได้สอนให้ลูกศิษย์ให้ความเคารพ เสมือนครูอาจารย์ผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติอีกท่านหนึ่ง
หลวงปู่ดู่ ท่านได้ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัดตั้งแต่ก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ดังนั้นทุกคนที่ตั้งใจไปกราบนมัสการและฟังธรรมจากท่านจะไม่ผิดหวังเลยว่าจะไม่ได้พบท่าน ท่านจะนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ หน้ากุฏิของท่านทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บางวันที่ท่านอ่อนเพลีย ท่านจะเอนกายพักผ่อนหน้ากุฏิ แล้วหาอุบายสอนเด็กวัดโดยให้เอาหนังสือธรรมะ มาอ่านให้ท่านฟังไปด้วย
ข้อวัตรของท่านอีกอย่างหนึ่งก็คือ การฉันอาหารมื้อเดียวซึ่งท่าน กระทำ มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ภายหลังคือ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เหล่าสานุ ศิษย์ ได้กราบนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ เนื่องจากความชราภาพของท่านประกอบกับต้องรับแขกมากขึ้น ท่านจึงได้ผ่อนปรนตามความเหมาะควรแห่งอัตภาพ ทั้งจะได้เป็นการ โปรดญาติโยมจากที่ไกลๆ ที่ตั้งใจมาทำบุญถวายภัตตาหารแด่ท่าน
หลวงปู่แม้จะชราภาพมากแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์นั่งรับแขกที่มาจากทิศต่างๆ วันแล้ววันเล่า ศิษย์ทุกคนก็ตั้งใจมาเพื่อกราบนมัสการท่าน บางคนก็มาเพราะมีปัญหาหนักอกหนักใจแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ จึงมุ่งหน้ามาเพื่อกราบเรียนถามปัญหาเพื่อให้คลายความทุกข์ใจ บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดีเช่นเครื่อง ราง ของขลัง ซึ่งก็มักได้รับคำตอบจากท่านว่า “ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของดี ”
บางคนมาหาท่านเพราะได้ยินข่าวเล่าลือถึงคุณความดีศีลาจาริยวัตรของท่านในด้านต่างๆ บางคนมาหาท่านเพื่อขอหวยหวังรวยทางลัดโดยไม่อยากทำงาน แต่อยากได้เงินมากๆ
บางคนเจ็บไข้ไม่สบายก็มาเพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์ เป่าหัวให้ มาขอดอกบัวบูชาพระของท่านเพื่อนำไปต้มดื่มให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานาสารพันปัญหา แล้วแต่ใครจะนำมาเพื่อหวังให้ท่านช่วยตน บางคนไม่เคยเห็นท่านก็อยากมาดูว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร บ้างแค่มาเห็นก็เกิดปีติ สบายอกสบายใจ จนลืมคำถามหรือหมดคำถามไปเลย
หลายคนเสียสละเวลา เสียค่าใช้จ่ายเดินทางไกลมาเพื่อพบท่าน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอุตส่าห์นั่งรับแขกอยู่ตลอดวัน โดยไม่ได้พักผ่อนเลย และไม่เว้นแม้ยามป่วยไข้ แม้นายแพทย์ผู้ให้การดูแลท่านอยู่ประจำจะขอร้องท่านอย่างไร ท่านก็ไม่ยอมตามด้วยเมตตาสงสาร และต้องการให้กำลังใจแก่ญาติโยมทุกคนที่มาพบท่าน
ท่านเป็นดุจพ่อ
หลวงปู่ดู่ท่านเป็นดุจพ่อของลูกศิษย์ทุกๆ คน เหมือนอย่างที่พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นเรียกหลวงปู่มั่นว่า “ พ่อแม่ครูอาจารย์ ” ซึ่งถือเป็นคำยก ย่องอย่างสูง เพื่อให้สมฐานะอันเป็นที่รวมแห่งความเป็นกัลยาณมิตร
หลวงปู่ดู่ท่านให้การต้อรับแขกอย่างเสมอหน้ากันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ท่านจะพูดห้ามปราม หากมีผู้มาเสนอตัวเป็นนายหน้าคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่เข้ามานมัสการท่าน ถึงแม้จะด้วยเจตนาดี อันเกิดจากความห่วงใยในสุขภาพของท่านก็ตามเพราะท่านทราบดีว่ามีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตส่าห์เดินทางมาไกลเพื่อนมัสการและซักถามข้อธรรมจากท่าน หากมาถึงแล้วยังไม่สามารถเข้าพบท่านได้โดยสะดวกก็จะทำให้เสียกำลังใจ
นี้เป็นเมตตาธรรมอย่างสูงซึ่งนับเป็นโชคดีของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ไม่ว่าใกล้หรือไกล ที่สามารถมีโอกาสเข้ากราบนมัสการท่านได้โดยสะดวก หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐานมาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย บางครั้งหลวงพ่อก็มิได้กล่าวอะไรมาก เพียงการทักทายศิษย์ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เช่น “ เอ้า . . . กินน้ำชาสิ ” หรือ “ ว่า ไง . . ” ฯลฯ เท่านี้ก็เพียงพอที่ยังปีติให้เกิดขึ้นกับศิษย์ผู้นั้นเหมือนดังหยาดน้ำทิพย์ชโลมให้เย็นฉ่ำ เกิดความสด
ชื่นตลอดร่างกายจน . . . ถึงจิต . . . ถึงใจ
หลวงปู่ดู่ท่านให้ความเคารพในองค์หลวงปู่ทวดอย่างมาก ทั้งกล่าวยกย่องในความที่เป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยมตลอดถึงการที่จะได้มาตรัสรู้ธรรมในอนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายยึดมั่นและหมั่นระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ประสบปัญหาในทางโลกๆ ท่านว่าหลวงปู่ทวดท่านคอยจะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกคนอย่าได้ท้อถอยหรือละทิ้งการปฏิบัติ
หลวงปู่ดู่กับครูอาจารย์ท่านอื่น
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๓๒ ได้มีพระเถระและครูบาอาจารย์ หลายท่านเดินทางมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่ดู่ เช่นหลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นพระเถระซึ่งมีอายุย่างเข้า ๙๖ ปี ก็ยังเมตตามาเยี่ยมหลวงปู่ดู่ที่วัดสะแกถึง ๒ ครั้ง และบรรยากาศของการพบกันของท่านทั้งสองนี้ เป็นที่ประทับใจผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างยิ่ง เพราะต่างองค์ต่างอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากการแสดงออกซึ่งทิฏฐิมานะใดๆ เลย แป้งเสกที่หลวงปู่บุดดาเมตตามอบให้ หลวงปู่ดู่ท่านก็เอามาทาที่ศีรษะเพื่อแสดงถึงความเคารพอย่างสูง
พระเถระอีกท่านหนึ่งซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่ดู่ค่อนข้างบ่อยครั้ง คือ หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร ท่านมีความห่วงใยในสุขภาพของหลวงปู่ดู่อย่างมากโดยได้สั่งให้ลูกศิษย์จัดทำป้ายกำหนดเวลารับแขกในแต่ละวันของหลวงปู่ดู่ เพื่อเป็นการถนอมธาตุขันธ์ของหลวงพ่อให้อยู่ได้นาน ๆ แต่อย่างไรก็ดีไม่ช้าไม่นานหลวงปู่ดู่ท่านก็ให้นำป้ายออกไปเพราะเหตุแห่งความเมตตา ที่ท่านมีต่อผู้คนทั้งหลาย