ประวัติ หลวงปู่ดี วัดสุวรรณาราม

ประวัติ หลวงปู่ดี วัดสุวรรณาราม

หลวงพ่อดี วัดสุวรณาราม หรือ พระครูวิชัยวุฒิคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ท่านเป็นชาวมหาสวัสดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ท่านเกิด ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ครอบครัวท่านประกอบอาชีพทำนา (ไม่ทราบนามโยมบิดาโยมมารดา และปีเกิดของท่านที่เข้าในกันว่าเป็นปี ๒๔๔๖ นั้นไม่ตรงกับปฏิทินร้อยปี)

ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ หลวงพ่อดี ท่านมีอายุได้ ๑๘ ปี ท่านสนใจที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียน แต่สมัยนั้นโรงเรียนหายากจึงเข้าบรรพชาเป็นสามเณร เพื่อศึกษาในสำนักวัดกลางบางแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่มีการศึกษาเจริญรุ่งเรือง โดยพระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขันธโชติ) ท่านส่งเสริมสนับสนุนทางการศึกษามากในสมัยนั้น

เมื่อบรรพชาแล้ว จึงอยู่ศึกษาที่วัดกลางบางแก้ว โดยเรียนสนธิมูลกัจจายน์กับพระอาจารย์เนียม ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ในวัดกลางบางแก้ว ภายใต้การควบคุมดูแลจาก หลวงปู่บุญอย่างใกล้ชิด และศึกษาอักขระขอมกับพระอาจารย์แสง อาจารย์ในสำนักวัดกลางบางแก้ว ผู้เชี่ยวชาญทางอักขระวิธีจนมีความรู้เป็นอย่างดี

ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อดี ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดงิ้วราย ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้รับฉายาว่า “สุวัณโณ” โดยมี

พระครูปัจฉิมทิศบริหาร(เกิด) วัดงิ้วราย เป็นพระอุปัชฌาย์

พระอธิการพุฒ วัดกกตาล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระปลัดบุญ วัดแค เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดงิ้วรายเรื่อยมา เพื่ออยู่เฝ้าปรนนิบัติอุปัชฌาย์ ก่อนที่จะย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสุวรรณ ซึ่งในขณะนั้นมีหลวงพ่อเนียม เป็นเจ้าอาวาส

เหตุที่หลวงพ่อดี ท่านย้ายมาจำพรรษาที่วัดสุวรรณนั้น ด้วยหลวงพ่อเนียม เจ้าอาวาสเป็นพระอาจารย์ของท่าน เมื่อครั้งเป็นสามเณร ภายหลังหลวงปู่บุญได้ส่งมาปกครองวัดสุวรรณ

ระหว่างนั้นท่านได้ออกธุดงค์ ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความวิเวก เจริญวิปัสสนา บางปีท่านก็จะไปจำพรรษาอยู่ที่อื่นๆ เช่น ที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี วัดกกตาล จังหวัดนครปฐม และที่สระบุรี

ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระอธิการเนียม โชติกาโร เจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านซึ่งได้เห็นท่านมีจริยวัตรน่าเลื่อมใส จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อดี ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

วัดสุวรรณาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เริ่มมีการขุดคลองมหาสวัสดิ์เชื่อมต่อคลองบางกอกน้อยกับแม่น้ำนครชัยศรี

ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ใช้เสด็จไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ทำให้บริเวณนี้มีผู้คนเรื่มเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ซึ่งอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓

อาคารและเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถได้สัดส่วนสวยงาม บริเวณประตูจะมีรูปครุฑ และบริเวณภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชื่อพระพุทธสุวรรณบวรรังษี ชาวบ้านมักมาบนบานศาลกล่าว หากสำริดผล จะแก้บนด้วยประทัด และศาลาสร้างด้วยไม้เต็ง ทรงไทยโบราณ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ปัจจุบันยังอยู่สภาพที่สมบูรณ์ สามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์

หลังจากที่หลวงพ่อดี ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และยังสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

หลวงพ่อดี ท่านได้เริ่มทะนุบำรุงวัดและอุโบสถซึ่งมีพระพุทธสุวรรณบวรรังสี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ สร้างอุโบสถ ก่อสร้างโรงเรียน และได้สร้างวัตถุมงคล

กล่าวกันว่าเมื่อ โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ที่ไฟไหม้จนมีคนตายมาก แต่มีบางคนห้อยเหรียญหลวงพ่อดี กระโดดจากตึกลงมาไม่เป็นอะไร และอีกหลายครั้ง ที่รถไฟชนจนรถพังยับ แต่คนในรถ กลับบาดเจ็บไม่เท่าไร

หลวงพ่อดี ท่านได้รวบรวมกำลังศรัทธาของสาธุชนทั้งพระหลาย สร้างสาธารณกุศลต่างๆ บูรณปฏิสัง ขรณ์พระอุโบสถซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนมีความสวยงาม เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น

สร้างกุฏิสงฆ์ใหม่หลายหลัง สร้างศาลาการเปรียญให้กว้างขวาง เพียงพอแก่การใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียนให้แก่กุลบุตร-กุลธิดาได้เข้าศึกษาหาความรู้

นอกจากนี้ ยังสร้างถาวรวัตถุอีกมากมาย จนวัดสุวรรณกลายเป็นวัดที่งามสง่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวบ้านย่านนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อดี ที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรตรี ที่พระครูวิชัยวุฒิคุณ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดี คือความดี ซึ่งชนะความชั่วทุกอย่างได้อย่างอัศจรรย์ ครั้งหนึ่งเด็กวัดเดินชนท่าน ท่านยิ้มและแผ่เมตตาให้ จนเป็นที่เกรงใจของเด็ก หรือในบางครั้งมีพระลูกวัดชกต่อยกัน ท่านก็เรียกมาไต่ถามด้วยความเมตตา จนพระไม่กล้ากระทำความผิดอีกต่อไป

ด้วยคุณธรรมความดีของท่านนี่เอง เมื่อท่านสร้างมงคลวัตถุสิ่งใดออกมาแจกจ่าย จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก อาทิ ธงมหามงคล ที่มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม ทำมาค้าขายได้ดี เงินทองเข้าร้านร่ำรวย

โดยเฉพาะธงมหามงคลของท่านนั้น มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งท่านปัดกวาดห้องพระภายในกุฏิเจ้าอาวาสเก่า ท่านได้พบธงลงยันต์ผืนหนึ่งมีความสวยงามมาก เป็นแบบฉบับที่ดี ที่ท่านพึงพอใจ ภายหลังทราบว่าเป็นธงของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

ท่านจึงนำมาศึกษาจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี แล้วทำแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ให้ทดลองนำไปใช้ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดีในทางมหาลาภ ร้านค้าใดมีธงของท่านปักไว้ ก็ทำมาค้าขายได้ดี เงินทองเข้าร้านร่ำรวยไปตามๆ กัน จนท่านลงไม่ทัน เพราะธงนั้นต้องลงอักขระด้วยมือ

บางรายนำไปใช้คุ้มครองบ้านเรือนก็ได้ผล ขโมยเข้าบ้านไม่ถูก เดินไปทางไหนเห็นกอไผ่บังหน้าเต็มไปหมด มีอยู่หลายรายนำไปใช้ป้องกันฝนตก ก็ได้ผล เพราะถึงฤดูก่อนเข้าพรรษา มีชาวบ้านต้องทำพิธีบวชลูกหลานกันมาก

ตามบ้านนอกพื้นดินบริเวณบ้านเป็นลานดิน หากฝนตกลงมาการจัดงานก็ลำบาก จึงได้ใช้ธงหลวงพ่อดีเอาขึ้นปักไว้บนหลังคาบ้าน จุดธูปบอกกล่าว ปรากฏว่าฝนไม่ตกลงมาบริเวณงาน แต่รอบๆ ทั่วไปตกลงมาเป็นเทน้ำ เรื่องนี้ร่ำลือกันมาก

หลวงพ่อดี ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นับรวมสิริอายุได้ ๘๙ ปี ๖๘ พรรษา ก่อนมรณภาพท่านสั่งให้เก็บสังขารท่านไว้ แต่เจ้าอาวาสรูปถัดมาได้จัดงานพระราชทานเพลิงให้ จนเกิดปาฏิหาริย์สังขารของท่านไม่ไหม้ไฟ.