ประวัติ หลวงปู่ก๋ง วัดเขาสมอคอน

ประวัติ พระอุปัชฌาย์ก๋ง วัดเขาสมอคอน (ลพบุรี)
“พระอุปัชฌาย์ก๋ง” หรือ (หลวงปู่ก๋ง) ท่านเกิด วันจันทร์ เดือนอ้าย ปีระกา พ.ศ.๒๓๗๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่บ้าน ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี บิดา-มารดา ชื่อนายฉิม-นางไข่ สมัยเป็นฆราวาสได้ศึกษาหนังสือไทยและขอมที่วัดเขาสมอคอน จนแตกฉานทุกแขนง เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้เข้าอุปสมบทที่วัดเขาสมอคอน (เจ้าอธิการจีน) เป็นพระอุปัชฌาย์ (พระอธิการทับ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (พระอธิการชื่น) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้อยู่จำพรรษาที่วัดเขาสมอคอน ๑ พรรษา ก่อนย้ายไปอยู่ วัดมุจรินทร์ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ๒ พรรษา แล้วไปอยู่วัดบ้านไร่ และ วัดบางลี่อีก ๔ พรรษา หลังจากนั้นท่านได้เข้า กรุงเทพฯ ไปอยู่วัดน้อย บางยี่ขัน ๓ พรรษา ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบางลี่ ท่านได้ปกครองวัดบางลี่อยู่ ๕ พรรษา จึงย้ายมาจำพรรษา อยู่วัดเขาสมอคอน จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปกครองดูแลวัดแห่งนี้มาจนสิ้นอายุขัย “หลวงปู่ก๋ง” ท่านถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๙ สิริอายุรวม ๙๐ ปี ๖๘ พรรษา
หลวงปู่บุญมี อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสมอคอน ศิษย์เอกของท่าน เล่าไว้ว่า เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ (รัชกาลที่ ๕) เคยเสด็จฯ มาหาหลวงปู่ก๋งที่วัดหนึ่งครั้ง โดยเสด็จฯ ขึ้นไปถึงยอดเขาสมอคอนกับท่านตามลำพังเป็นเวลานาน จึงเสด็จฯกลับลงมา ต่อมาได้แต่งตั้งให้ท่านเป็น พระอุปัชฌาย์
เรื่องราวของ “พระอุปัชฌาย์ก๋ง” หรือ “หลวงปู่ก๋ง” พระมหาเถระที่มีอายุยืนยาวถึง ๑๒๕ ปี แห่งวัดเขาสมอคอน จ.ลพบุรี ยังมีอีกว่าสมัยนั้นการเป็นพระภิกษุสงฆ์ จะได้รับการยกเว้นจากการเป็นทหาร ใครไม่อยากเป็นก็หนีมาให้ท่านบวชให้ ท่านก็บวชให้ไม่ว่าคนดีหรือคนร้าย จนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่รู้จะทำอย่างไรกับท่าน กระทั่งรู้ไปถึงเจ้าคณะมณฑลในสมัยนั้นอยู่ที่อยุธยา จึงได้ส่งคนถือหนังสือมานิมนต์ตัวท่านไปพบ และกักตัวให้จำพรรษาอยู่วัดประดู่ในทรงธรรม อยุธยา เป็นเวลา ๒ พรรษา จึงได้กลับมาวัดเขาสมอคอน
ด้านการศึกษาวิทยาคมเริ่มแรกท่านเรียนกับ (พระอธิการจีน) พระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมขลัง เพียบพร้อมไปด้วยเวทมนตร์คาถา หลังจากนั้นได้ไปร่ำเรียนกับ พระคณาจารย์อีกหลายท่านที่เห็นว่ามีวิชาความรู้ พอที่จะถ่ายทอดให้ท่านได้
วัตถุมงคลที่โด่งดังของท่านประกอบด้วย ขี้ผึ้งเมตตามหานิยม, แหวนพิรอด ท่านใช้กระดาษข่อยลงเลขยันต์อักขระ แล้วถักเป็นแหวนลงด้วยรักสีดำ, มีดหมอ ที่มีอานุภาพไม่ด้อยไปกว่าของหลวงพ่อเดิม ซ้ำหายากกว่าอีกเพราะท่านสร้างไว้น้อยมาก
เหรียญรุ่นแรก สร้างหลังปี ๒๔๖๐ มีด้วยกัน ๓เนื้อ คือ เนื้อเงิน, เนื้อทองแดง และเนื้ออะลูมิเนียม ด้านหน้ารูปท่านนั่งขัดสมาธิ ห่มจีวรเฉียง พาดสังฆาฏิรัดประคดเอว เป็นหัวพระพิรอด ท่านนั่งบนแท่นรองรับด้วยบัวเข็มสองข้าง มีขนหางหงส์ขึ้นซ้ายและขวา แผ่พังพาน เป็นพญานาค ด้านบนมีภาษาไทยว่า “หลวงพ่ออุปัชฌาย์ก๋ง”
ด้านหลังเป็น ยันต์แหวนพิรอด อำนาจของยันต์นี้หนักไปในทางป้องกัน เขี้ยวงาชะงัดนักแล เป็นรูปพญางูสองหัว มีหางมัดเป็นเกลียว เป็นอุณาโลมขึ้น ด้านบนมีฉัพพรรณรังสี ๑๐ แฉก มีภาษาไทยว่า “ที่รฤก วัดเขาสมอคร” ขอบของเหรียญชักลูกประคำรอบเหรียญ
สำหรับเหรียญทองแดงต้องมีลูกประคำ หรือภาษาในวงการพระเรียกว่า “ไข่ปลา” ซึ่งบางเหรียญก็ไม่มีไข่ปลา เพราะเขาเอาปลอกเหรียญอะลูมิเนียมมาปั๊มเหรียญทองแดง และปลอกเหรียญทองแดงมาปั๊มอะลูมิเนียม ซึ่งเหรียญทั้งสองนี้เป็นรุ่นเดียวกัน ส่วนเหรียญเงินนั้นมีน้อยมาก เพราะท่านทำแจกเฉพาะลูกหลานและผู้ใกล้ชิดเท่านั้น
ลูกศิษย์คนหนึ่ง เล่าว่า ในการปลุกเสกเหรียญนั้น ท่านได้จัดพิธีกลางแจ้ง มีประชาชนแห่แหนมาร่วมงานไม่น้อย ท่านได้นำเอาเหรียญใส่ลงไปในพาน และรองรับด้วยพานแว่นฟ้า ปูพื้นด้วยผ้าขาวผืนใหญ่ แล้วนั่งบริกรรมอยู่เพียงรูปเดียว ด้วยกระแสจิตอันมั่นคง สักครู่ใหญ่ก็ปรากฏเสียงดังแกร๋งๆๆๆ จากพานที่ใส่เหรียญ และมีวัตถุกระโดดออกมาจากในพาน ทุกคนที่นั่งดูพิธีครั้งนั้นถึงกับอุทานกัน พร้อมกับยกมือทั้งสองข้างขึ้นพนมท่วมหัว แต่ละคนที่เฝ้าดูท่านอยู่นั้น ต่างเข้าไปแย่งเหรียญที่กระโดดออกมาจากบาตร แต่ท่านไม่อนุญาตให้ใครเอาไป และเอาเหรียญเหล่านั้นใส่ลงไปในบาตรตามเดิม แล้วคนๆให้รวมปนกันไป ก่อนจะแจกจ่ายให้ทุกคนที่มาร่วมงาน หลังจากนั้นหลายๆ คนที่ได้รับเหรียญไป ต่างมีประสบการณ์เล่าขานกันมากมาย ไม่ว่าจะในด้านโชคลาภ เมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย แม้กระทั่งมหาอุด ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้าก็มีมิใช่น้อย
เหรียญของท่านจึงเป็นเหรียญคณาจารย์ดัง ของเมืองลพบุรีเหรียญหนึ่ง ซึ่งหายากเข้าไปทุกวัน เช่นเดียวกับพระเครื่อง วัตถุมงคลของท่านทุกชนิด สืบเนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์เหนือคำบรรยาย