ประวัติเจ้าคุณม่วง วัดท่าโพธิ์
พระรัตนธัชมุนี มีนามเดิมว่า ม่วง ศิริรัตน์ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ ตรงกับวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรทั้งหมด ๘ คน (หญิง ๒ ชาย ๖) ของนายแก้วกับนางทองคำ ชาติภูมิอยู่บ้านหมาก ตำบลบ้านเพิง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
บรรพชาอุปสมบท
เมื่ออายุ ๙ ขวบได้ศึกษาภาษาไทยและภาษาบาลีตามลำดับในสำนักของพระอาจารย์เพ็ชร วัดแจ้ง จนอายุ ๑๕ จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดแจ้ง จนอายุได้ ๑๗ ปีจึงย้ายไปอยู่วัดมเหยงคณ์ ศึกษาภาษาบาลีในสำนักของพระครูการาม (จู)
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ (อายุ ๒๐ ปี) โดยมี พระครูการาม (จู) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระครูการามย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ในปีต่อมา ท่านได้ตามมาอยู่ด้วย จนพระครูการามมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสแทน
การศึกษา
พ.ศ. ๒๔๓๒ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจการพระศาสนาในหัวเมืองปักษ์ใต้ พระอธิการม่วงได้เข้าเฝ้าและตามเสด็จกลับมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานคร ทรงให้ท่านอยู่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร และในปีฉลูนั้นทรงให้ท่านทำทัฬหีกรรมบวชใหม่ในคณะธรรมยุตโดยมีพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระองค์เองเป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วศึกษากับพระองค์ต่อ จนปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้เข้าสอบที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยค ปีต่อมาได้ทูลลากลับไปอยู่วัดท่าโพธิ์ตามเดิม
การปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสปักษ์ใต้ พระมหาม่วงได้เข้าเฝ้าและถวายรายงานเรื่องการพระศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นที่พอพระทัย และทรงเห็นว่าท่านมีคุณธรรมและอุตสาหะ จึงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวุฒิการบดีส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงประกาศให้รวมมณฑลสุราษฎ์และจังหวัดสตูลเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราช โดยโปรดให้ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลต่อตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นไป
ในระหว่างดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล นอกจากการปกครองสังฆมณฑลให้เรียบร้อย ท่านยังได้ทำงานสนองนโยบายของราชการโดยจัดการศึกษาแบบใหม่ขึ้นทั่วทั้งมณฑลนับแต่เมืองนครศรีธรรมราชไปจนถึงเมืองกลันตัน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านจึงขอลาออกจากตำแหน่งเพราะชราภาพ แต่ปรากฏว่าเกิดความไม่สงบขึ้น ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อสะสางปัญหาต่าง ๆ เรียบร้อยท่านจึงขอลาออกอีกครั้งด้วยเหตุผลเดิม จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตและให้พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตฺตโม) เจ้าคณะมณฑลภูเก็ต ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑
ตำแหน่ง
ฝ่ายปกครอง
พ.ศ. ๒๔๖๗ – ๒๔๗๑ เป็น เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช
เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์
มรณกาล
พระรัตนธัชมุนี ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๐๔.๒๐ น. ณ วัดท่าโพธิ์ สิริอายุได้ ๘๑ ปี ๔๒ วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘
สมณศักดิ์
๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็น พระราชาคณะ ที่ พระศิริธรรมมุนี
๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี ศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี
๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกษาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูษิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี
๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ ที่ พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สังฆนายกตรีปิฎกคุณาลังการ ศีลสมาจารวินัยสุนทร ยติคณิศรบวรสังฆาราม คามวาสี