ประวัติหลวงพ่อเดิม วัดเอก
วัดเอก หรือ วัดเชิงแสพระครูเอก หรือวัดเชิงแสเหนือ ตั้งอยู่ในตําบลเชิงแส อําเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ที่วัดตั้งอยู่ในที่ลุ่มกลางนา มีพัทธสีมาที่แปลกและน่าสนใจ ซึ่งมีฐานก่อด้วยอิฐและมีซุ้มสูง ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือพระประธานในพระอุโบสถ คือหลวงพ่อเดิมพระพุทธรูปปางสมาธิ (พระมหาเถระลังการเดิม) และรอยพระพุทธบาทไม้จำลองเป็นไม้แกะสลัก กว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๑.๒๐ เมตร ซึ่ึ่งลอยน้ำมาพร้อมกับองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อเดิม วัดเอกเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลาที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามเสมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๐ ในอดีตวัดเอกแห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรื่องมาก่อน แต่ด้วยระยะของกาลเวลาและว่างเว้นจากพระสงฆ์อยู่จำพรรษา จึงให้วัดขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์ทำให้วัดเอกอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ตามบันทึกของผู้รู้กล่าวว่าวัดเอกน่าคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านเชิงแส (หมายถึงบ้านเก่าทางทิศตะวัดตกของวัดเอกที่ชาวบ้านเรียกในขณะนี้ว่าบ้านร้าง) และด้วยเหตุว่าวัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านคือหลวงพ่อเดิม ถึงเวลาจะล่วงเลยมาเนิ่นนานแต่หลวงพ่อเดิมนั้นยังปรากฎความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ยังเป็นที่สักการบูชา ตลอดถึงรับบนบานสานกล่าวของชาวบ้านตลอดมา สำหรับมูลเหตุแห่งความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อเดิมนั้น ถ้าจะพิจารณากันโดยทั่ว ๆ แล้วก็มีหลายประการ อาทิ
๑. วัดเอก มีเพลาหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าลายแทง ปัจจุบันก็ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านเชิงแส ความว่า “วัดเอกเจ้าข้า มีนาสามมุม มีทองสามตุ่ม อยู่หัวมุมนา วัดเข้าสามศอก วัดออกสามวา วัดเข้าไปเหล็กในแทงตา วัดออกมาหญ้าคาแทงหู”
๒. วัดเอก มีที่ดินนาเป็นจำนวนมากซึ่งตั้งอยู่รอบ ๆ บริเวณวัด ขณะนี้ชาวบ้านเรียกว่า “นาวัด” ทั้ง ๆ ที่ที่ดินเหล่านั้นได้แปลงกรรมสิทธิ์ไปหมดแล้วจึงเชื่อว่าวัดเอกในสมัยก่อนคงได้รับกัลปนาจากพระเจ้าแผ่นดิน หรือท่านเจ้าเมือง ตลอดถึงการยกเว้นภาษีอากรตลอดถึงส่วยต่าง ๆ (เช่นเดียวกับวัดพระพะโคะ) ด้วย
๓. วัดเอก มีโบราณสถานและวัตถุสำคัญคือ “องค์หลวงพ่อเดิม” เป็นพระพุทธรูปคู่กับวัดนี้ตลอดมา เพราะชาวบ้านทั่ว ๆ ไปถือกันว่ามีอภินิหารหรืออำนาจอันลึกลับที่จะดลบันดาลปัดเป่าภัยพิบัติต่าง ๆ ของเขาให้อันตรธานหายไปได้เพราะฉะนั้น “หลวงพ่อเดิม” จึงเป็นปูชนียวัตถุที่เคารพศรัทธาของประชาชนตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะความเชื่อและยึดมั่นต่ออภินิหารของ “หลวงพ่อเดิม” นั้นมิได้เปลี่ยนแปลงเมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษาของปีจะมีกุลบุตรจำนวนมากที่เดินทางมาจากที่ต่าง ๆ เพื่ออุปสมบท (บวช) ต่อหน้าของหลวงพ่อเดิม ตามโบราณประเพณีที่เกิดจากแรงศรัทธาและความเชื่อที่ถูกฝังแน่นลงในสายเลือดของบรรพบุรุษอนึ่งการที่หลวงพ่อเดิม (พระมหาเถระลังการเดิม) มาประดิษฐานที่วัดเอกก็มีคำเล่าลือต่าง ๆ กันมาว่า หลวงพ่อเดิมก่อนที่จะมาประดิษฐานที่วัดเอกนั้น ท่านประดิษฐานอยู่บนแพลอยน้ำมาเมื่อชาวบ้านพบเข้าก็นิมนต์ท่านจากแพและนำมาประดิษฐานไว้ในวัดแห่งหนึ่งทางทิศตะวันออก(สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเจดีย์งาม) ขณะนิมนต์มานั้นก็เพียงแต่ใช้เส้นด้าย ๓ เส้นลากมาตามลำคลอง (เรียกว่าคลองพระขณะนี้ตื้นเขินเกือบหมดแล้ว) เมื่อมาถึงหน้าบ้านเชิงแสซึ่งมีวัดอยู่ถึง ๓ วัด คือวัดเชิงแสเหนือ (วัดเอก) วัดเชิงแสกลาง วัดเชิงแสใต้ (หัวนอน) ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านไปทางวัดใต้และวัดกลางแต่ท่านก็ไม่ไป (สมัยนั้นใช้กับลากแพไม้) เมื่อชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงจุดธูปนิมนต์ท่านไปอยู่ที่วัดเชิงแสเหนือ (วัดเอก) ปรากฏว่าใช้แค่เส้นด้าย ๓ เส้น ท่านขยับเคลื่อนท่านลงแพล่องไปลำคลองไปอยู่ที่วัดเชิงแสเหนือ (วัดเอก) ลำคลองสายนั้นขณะนี้ยังปรากฏอยู่ชาวบ้านเรียกว่าคลองแพ
๔. คำว่าวัดเอกนั้น ผู้รู้เคยตรวจดูแผนที่การสร้างเมืองพัทลุง ในราวปี พ.ศ. ๒๑๐๐ ได้พบชื่อวัดนี้เขียนว่า “วัดพระครูเอกอุดม” จึงพอเข้าใจคำว่า “เอก” นั้นมาจากสมณะศักดิ์ขอเจ้าอาวาสในสมัยนั้น
๕. วัดเจดีย์งามเป็นวัดโบราณยิ่งกว่าวัดเอกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดเอก ประมาณ ๗ กิโลเมตร วัดนี้มีกลุ่มเจดีย์แบบลังกาซึ่งสร้างด้วยหินปะการังเช่นเดียวกับหลวงพ่อเดิมองค์เดิมพระเจดีย์สร้างนั้นก็เป็นปริศนาธรรมคือมีพระเจดีย์องค์ใหญ่สวยงามยิ่ง แวดล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็ก ๘ องค์ ซึ่งหมายถึงมรรค ๘ อันเป็นหัวใจของธรรมในพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ชัดว่าผู้สร้างเจดีย์กลุ่มนี้ ยึดเอาธรรมอันสูงของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการสร้างโบราณสถาน เช่น เจดีย์ ต่อมาประชาชนส่วนหนึ่งของหมู่บ้านพระเจดีย์งามได้มีเหตุจำเป็นต้องยกครอบครัวไปหาที่ตั้งหลักแห่งใหม่ (น่าจะเกิดโรคระบาด) ประกอบการทำมาหากินทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านพระเจดีย์งาม (บ้านเก่าใกล้ ๆ กับวัดเอก) และเมื่อได้ตั้งรกรากลงอย่างมั่นคงแล้วก็จัดการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้าง (วัดเอก) ที่มีในหมู่บ้าน และก็ได้อาราธนาพระสงฆ์องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหาเถรลังกาเดิมที่ได้มรณภาพไปแล้วมาเป็นเจ้าอาวาสและท่านก็ได้นำพระพุทธรูปของพระมหาเถรลังกาเดิมมาประดิษฐาน ณ วัดเอก
ต่อจากนั้นก็ได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้นให้มีความเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งท่านได้รับสมณะศักดิ์เป็น “พระครูเอกอุดม”ชื่อของวัดนี้จึงกลายเป็นวัดเอกคู่กับหลวงพ่อเดิมซึ่งชาวบ้านจึงนิยมมาสักการะบูชาบนบานสานกล่าว ต่อหน้าองค์หลวงพ่อเดิมให้ประสพความสำเร็จในเรื่องราวต่าง ๆ แล้วจะมาบวชแก้บน ในแต่ละปีจะมีกุลบุตร กุลธิดา (ชี) มาบวชที่วัดเอกเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ วัดเอกแห่งนี้จึงค่อยได้รับการพัฒนาเสนาสนะต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องมีการขยายพื้นที่ของวัด ตลอดถึงปรับปรุงทัศนียภาพให้มีบรรยากาศที่ร่มรื่นสวยงามเป็นสัดส่วนซึ่งสามารถลำดับเวลาของการพัฒนาได้ดังนี้คือ
– ปีพ.ศ. ๒๕๓๖ สร้างพระอุโบสถหลังใหม่และได้มีการยกช่อฟ้าในปี พ.ศ ๒๕๓๗ (ในการนั้นได้สร้างเหรียญรูปเหมือนจำลองจากองค์จริง) จากนั้นจึงดำเนินการผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓
– ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ วัดเอกได้รับรางวัลพัฒนาตัวอย่าง เจ้าอาวาสได้รับการแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอกระแสสินธุ์ มีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โรงเรียนปริยัติธรรม ศูนย์ปฏิบัติธรรม และโครงการปฏิบัติธรรม
– ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ วัดเอกได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดต้นแบบในโครงการคนรักวัดจากกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อให้วัดอื่น ๆ ได้ศึกษาและนำแนวทางการจัดการของวัดเอกไปประยุกต์ใช้
ปัจจุบันวัดเอกเป็นที่รู้จักของประชาชนมาก และที่สำคัญคือบทบาทของวัดเอกในปัจจุบันมิิได้เป็นเพียงศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้ แต่วัดเอกยังได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองสำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะโครงการปฏิบัติธรรมเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นโครงการที่เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งคือการส่งเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและการปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธศาสนานั่นเอง