ประวัติหลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน

ประวัติหลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน

เป็นปกติวิสัยที่ชีวประวัติของพระมหาเถระเกจิอาจารย์ทั่วไป จะมีหลายฉบับหลายที่มาเพราะคนสมัยก่อนไม่นิยมที่จะบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นไปได้ว่าในสมัยนั้นการหากระดาษมาบันทึกก็หายากเต็มที แม้แต่นักเรียนก็ยังต้องใช้กระดานชนวนขีดเขียนแทน ซึ่งเมื่อเขียนเต็มหน้ากระดานแล้วก็ต้องลบทิ้งจึงจะเขียนใหม่ได้ อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องกำลังทรัพย์ในการซื้อหา พูดได้ว่าเด็กสมัยโน้นต้องรักษากระดานชนวนให้ดีอย่าเผลอทำตกเป็นอันขาด เพราะมันแตกง่ายแต่การจะได้มาใหม่สักอันมันยากซะเหลือเกิน บ้านที่มีฐานะดีเท่านั้นที่สามารถมีกระดานชนวนได้หลายๆแผ่น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่พงศาวดารหรือเรื่องราวในอดีต โดยส่วนมากจะเล่ากันต่อๆมา จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก รุ่นลูกสู่รุ่นหลาน แล้วจึงมีการจดบันทึกในภายหลัง ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่าประวัติเรื่องราวอาจจะคลาดเคลื่อนได้ ขึ้นอยู่กับมากหรือน้อยเท่านั้น

อย่างประวัติของหลวงพ่อทองก็เช่นเดียวกัน มีประวัติหลายฉบับที่คนรุ่นหลังได้จดบันทึกหรือเขียนขึ้น ซึ่งบางครั้งก็มีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นสาเหตุก็คือแหล่งที่มาของข้อมูลนั่นเอง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็ได้ประวัติหลวงพ่อจากหลายแหล่งที่มา แต่เมื่อนำคำบอกเล่ามาผนวกกับข้อมูลหลักฐานที่วัดดอนสะท้อนมีอยู่ จึงประวัติหลวงพ่อครั้งนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

ผู้เขียนได้ศึกษาจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสมัยนั้น ซึ่งนับวันก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว บางท่านอายุเกินร้อยแล้วก็มี บางท่านมาอยู่ที่วัดตั้งแต่เด็กๆ บางท่านเป็นผู้ใกล้ชิดปรนนิบัติหลวงพ่อ บางท่านสมัยเป็นสามเณรได้เดินทางไปธุดงค์กับหลวงพ่อ บางท่านเป็นหลานเป็นเหลน (ลูกหลานของพี่ชายพี่สาว เพราะหลวงพ่อไม่เคยมีครอบครัว)

จากคำบอกเล่าและหลักฐานที่มี จึงขอสรุปประวัติได้พอสังเขปว่า หลวงพ่อทอง ท่านเกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๗ ตรงกับปีระกา (ซึ่งมีหลักฐานเป็นรูปปั้นไก่สลักด้วยเลข พ.ศ. ๔๑๗ อย่างชัดเจน ที่ลูกศิษย์หลวงพ่อสมัยนั้นได้สร้างถวาย ปัจจุบันยังอยู่คู่กับรูปเหมือนหลวงพ่อบนมณฑป) หลวงพ่อบ้านปลายอวนหรือปลายยวน หมู่ที่ ๘ ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โยมบิดาชื่อนายสังข์ พรหมสุวรรณ์ โยมมารดาชื่อนางล่อง โดยมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันทั้งหมด ๗ คน หลวงพ่อเป็นคนสุดท้อง

รายชื่อพี่น้องทั้งหมด มีดังต่อไปนี้..

พี่สาวคนโตชื่อ หมึก ต่อมาชื่อ นางทองนวล นายรอด นางส้มแก้ว นางส้มแป้น นายเฟืองและสุดท้องคือหลวงพ่อ

 

เด็กชายทอง เกิดในครอบครัวชาวนาฐานะพอปานกลาง การศึกษาเบื้องต้นเหมือนเด็กชนบททั่วไป ที่ต้องไปเสาะแสวงหาความรู้ที่วัดต่างๆเด็กชายทองก็เช่นเดียวกัน ย่างเข้าวัยหนุ่มหลังจากเสร็จฤดูทำนาแล้ว ได้ชวนเพื่อนไปร่ำเรียนวิชาเพื่อเอาไว้ป้องกันตัว ตามลักษณะนิสัยของหนุ่มๆสมัยนั้น และเต็มใจบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาที่วัดอินทคีรี หมู่ที่ ๗ ตำบลพรหมโลก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก และอุปสมบทที่วัดนี้ได้รับฉายาว่า “พุทฺธสุวณฺโณ” แปลว่า “ผู้มีผิวพรรณดีดั่งพระพุทธเจ้า” โดยอยู่จำพรรษาอยู่ประมาณ ๒ พรรษา หลังจากนั้นได้ขออนุญาตอาจารย์เพื่อจาริกออกหาความรู้เพิ่มเติม จึงมาเรียนอยู่ที่วัดพระบรมธาตุอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ๒ พรรษา แล้วเดินทางไปยังจังหวัดพัทลุงเพื่อหาสำนักเรียนต่อไป ที่พัทลุงหลวงพ่อได้มาฝากตัวกับพระอาจารย์จันทร์ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ที่ดังขณะนั้น อยู่พำนักและศึกษาวิชากับท่านพอสมควร พระอาจารย์จันทร์จึงฝากหลวงพ่อให้เป็นศิษย์เรียนวิชาต่อกับพระอาจารย์ทอง (ครูทองเฒ่า) วัดเขาอ้อ ซึ่งเป็นเพื่อนสหธรรมิกของพระอาจารย์จันทร์

 

ที่วัดเขาอ้อหรือสำนักเขาอ้อ อันเป็นสำนักเรียนที่เลื่องชื่อที่สุดแห่งจังหวัดพัทลุง หลวงพ่อได้สหธรรมิกที่แก่พรรษากว่า คือ หลวงพ่อเอียด อริยวํโส วัดคงคาวงศ์ (พระอาจารย์ของขุนพันธรักษ์ราชเดช) และเป็นสหธรรมิกที่รู้ใจกันมากที่สุด เห็นได้จากระยะหลังจากหลวงพ่อมาอยู่ที่วัดดอนสะท้อน ก็เดินทางไปมาหาสู่กับหลวงพ่อเอียดอยู่เป็นนิตย์ และได้ทดสอบวิชาที่เรียนมาด้วยกันบ่อยๆ

หลังจากที่หลวงพ่อเล่าเรียนวิชาจากสำนักเขาอ้อจนแตกฉานแล้ว ตั้งใจเดินทางออกธุดงค์ขึ้นไปภาคกลาง โดยเดินทางตามทางรถไฟมาเรื่อย จนมาถึงจังหวัดหลังสวน (ปัจจุบันคืออำเภอหลังสวน) หลวงพ่ออยู่จำที่วัดดอนชัยประมาณ ๒ พรรษา ระหว่างนี้ได้รู้จักและแลกเปลี่ยนวิชาที่ร่ำเรียนมากับเพื่อนสหธรรมิกหลายรูป เช่น หลวงพ่อพัน วัดในเขา, หลวงพ่อจีต วัดถ้ำเขาพลู, หลวงพ่อพลอย วัดเชิงคีรี เป็นต้น

จากนั้นหลวงพ่อออกเดินทางมาถึงอำเภอสวี ได้แวะพักจำที่วัดพระธาตุสวี จึงออกเดินทางต่อมายังวัดดอนสะท้อน ระหว่างที่พักจำอยู่ที่นี่หลวงพ่อได้สงเคราะห์ชาวบ้านแถบนี้เป็นอันมาก ด้วยพุทธคุณที่ท่านได้ร่ำเรียนมาทุกครั้งไป จนชาวบ้านนิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนสะท้อน นับต่อจากหลวงพ่อพันซึ่งท่านได้ไปสร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า “วัดหน้าเมรุ” ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก (ปัจจุบันยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่)

ระหว่างที่หลวงพ่ออยู่ที่นี่ ด้วยสติปัญญาและพุทธคุณที่หลวงพ่อมีอยู่ ได้ทำนุบำรุงวัดให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง สร้างศาสนสถานหลายอย่างและยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งเป็นกำลังหลักในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุสวี รวมทั้งตั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา(ประชาบาล)ขึ้นครั้งแรกที่นี่ เข้าใจว่าหลวงพ่อคงมีเจตนาที่ดีและความเมตตาแก่เด็กชนบทที่ไม่ค่อยได้รับการศึกษาเท่าที่ควร และเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาโรงเรียนที่ ๖ ของจังหวัดชุมพร (ป.ชพ.๖) ปัจจุบันได้ทำการรื้อถอนเรียบร้อยแล้ว

 

ด้วยอำนาจพุทธคุณ หลวงพ่อเป็นที่รู้จักในฐานะเกจิอาจารย์สายใต้ ได้รับนิมนต์เข้าร่วมปลุกเสกหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานครก็หลายครั้ง จนเป็นสุดยอดเกจิอาจารย์ ๑๐๘ แห่งแผ่นดินสยาม มีศิษยานุศิษย์จำนวนมากหลายฐานะหลายอาชีพ

 

 

 

บริขารบางอย่างของหลวงพ่อที่ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี

 

 

หลวงพ่อท่านมรณภาพลงที่วัดดอนสะท้อน เมื่อตอนสายของวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๙๕ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๔ รวมสิริอายุ ๗๘ ปี ในงานฌาปนกิจศพหลวงพ่อได้มีญาติโยมศิษยานุศิษย์มาร่วมอย่างล้นหลาม เสร็จงานแล้วต่างก็แย่งกันเก็บอัฏฐิ(กระดูก)หลวงพ่อเพื่อนำไปบูชาและระลึกถึง รวมทั้งให้ช่างปั้นปูนฝีมือดีจากบ้านทุ่งคาใช้นามศิลปินว่า “ก.ทุ่งคา” ปั้นรูปเหมือนหลวงพ่อเพื่อไว้กราบไหว้สักการะ ตอนนี้รูปปั้นเหมือนหลวงพ่อประดิษฐานอยู่บนมณฑปตรีมุข ที่สร้างถวายโดยหลวงพ่อแช่มเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และจัดงานรำลึกหลวงพ่อทุกวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๔ ของทุกปี

 

 

รูปปั้นเหมือนหลวงพ่อ

 

 

 

สถานที่ฌาปนกิจศพหลวงพ่อ ปัจจุบันคือหอระฆัง

 

เหรียญรุ่นต่างๆของหลวงพ่อทอง

 

เหรียญหลวงพ่อทอง ๒๔๖๔ ชินราช

เหรียญห้อยคอ เป็นหนึ่งในบรรดาเครื่องรางของขลังที่ชายชาตรีส่วนมากต้องมีไว้กับตัว จะด้วยมีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองตัวเอง ด้วยอำนาจพุทธคุณของเหรียญนั้นๆ ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าแคล้วคลาดปลอดภัย หรือมีสะสมไว้เพราะความชอบ ผู้ชายส่วนมากจะนิยมชมชอบพระเครื่อง บ้างก็ชอบเพราะความสวยงามในการออกแบบ ชอบในความเป็นของเก่าน่าสะสม หรือชอบเพราะตนเองมีความเคารพศรัทธาในพระเกจิท่านนั้นๆ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ สรุปว่าสำหรับคนที่ชอบพระเครื่องแล้ว ถึงไม่มีไว้ในครอบครองก็ขอให้ได้ชมสักครั้ง เท่านี้ก็อิ่มตาอิ่มใจกันแล้ว สำหรับเหรียญของหลวงพ่อทองนั้น ได้เป็นที่รู้จักไม่เฉพาะแต่นักสะสมพระเครื่องในภาคใต้เท่านั้น แต่เป็นที่ติดตามเสาะหาของเซียนพระเครื่องทั่วประเทศด้วย วันนี้จึงนำพระเครื่องของหลวงพ่อทองที่เป็นเหรียญห้อยคอ ทั้งที่สร้างสมัยหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ และที่สร้างหลังจากท่านมรณภาพแล้วก็มี

เหรียญปี พ.ศ.๒๔๖๔ นี้เป็นเหรียญรุ่นแรกที่หลวงพ่อท่านสร้าง ด้วยเจตนาที่รวบรวมปัจจัยเป็นทุนทรัพย์ ในการสร้างกุฏิ(ปัจจุบันขึ้นทะเบียนโบราณสถาน)แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องทำบุญเท่าไรจึงได้รับเหรียญ เรียกว่าใครมีศรัทธาเท่าไรก็ทำบุญเท่านั้น

รายละเอียดของเหรียญ ๒๔๖๔ ชินราช ไม่ชื่อวัดไม่มีชื่อหลวงพ่อไม่มีปีที่สร้างมีแต่ยันต์ด้านหลังที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น เป็นเหรียญรูปตาลปัดคว่ำไม่ยกขอบ (จะว่ารูปไข่ก็ไม่เชิง) ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินราชปางเรือนแก้ว นั่งขัดสมาธิมีกลีบบัวคว่ำ-หงายรองรับ อักษรขอม ๗ ตัววางโดยรอบขอบเหรียญอ่านจากล่างขึ้นไปเวียนขวาได้ว่า กา, นะ, อะ, เร,นะ, นะ, นะ ส่วนด้านหลังเป็นยันต์เอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อ อ่านจากบนลงล่าง มิ, นะ, อุ อ่านจากซ้ายไปขวา มะ, นะ, อะ เหรียญที่สร้างไม่ทราบจำนวนแน่ชัดแต่ทราบว่าน้อยมาก มีเนื้อเงินและทองแดง

..

..ด้านหน้า..

..

..ด้านหลัง..

เหรียญหลวงพ่อทอง ๒๔๗๓

เป็นเหรียญรุ่นที่ ๒ ไม่มีชื่อวัดไม่มีชื่อหลวงพ่อไม่มีปีที่สร้างมีแต่ยันต์ด้านหลังที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น สร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสฉลองศาลาการเปรียญ(ปัจจุบันขึ้นทะเบียนโบราณสถานเช่นเดียวกัน)

รายละเอียดของเหรียญ ๒๔๗๓ ชินราช เป็นรูปพัดเสมาคว่ำ มีเส้นขอบ ๑ เส้นถัดมาเป็นเส้นจุดไข่ปลา ๑ เส้นและเส้นขอบอีก ๒ เส้น ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปพระพุทธชินราชปางเรือนแก้ว นั่งขัดสมาธิมีกลีบบัวคว่ำ-หงายรองรับ อักษรขอม ๗ ตัววางโดยรอบขอบเหรียญอ่านจากล่างขึ้นไปเวียนขวาได้ว่า กา, นะ, อะ, เร,นะ, นะ, นะ ส่วนด้านหลังมีเส้นขอบ ๑ เส้นถัดมาเป็นเส้นจุดไข่ปลา ๑ เส้นและเส้นขอบอีก ๒ เส้น ตรงกลางมียันต์เอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อ อ่านจากบนลงล่าง มิ, นะ, อุ อ่านจากซ้ายไปขวา มะ, นะ, อะ เหรียญที่สร้างไม่ทราบจำนวนแน่ชัดแต่ทราบว่าน้อยมาก มีเนื้อเงินและทองแดง

..

..ด้านหน้า..

..

..ด้านหลัง..

เหรียญหลวงพ่อทอง ๒๔๘๐

เป็นเหรียญรุ่นที่ ๓ ไม่มีชื่อวัดไม่มีชื่อหลวงพ่อไม่มีปีที่สร้างมีแต่ยันต์ด้านหลังที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น สร้างเพื่อสมทบทุนสร้างอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒

รายละเอียดของเหรียญ ๒๔๘๐ มีเส้นขอบ ๑ เส้นถัดมาเป็นเส้นจุดไข่ปลา ๑ เส้นและเส้นขอบอีก ๑ เส้น ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินราชปางเรือนแก้ว นั่งขัดสมาธิมีกลีบบัวคว่ำ-หงายรองรับ มีอักษรขอม อิ จำนวน ๔ ตัว ส่วนด้านหลังมีเส้นขอบ ๑ เส้นถัดมาเป็นเส้นจุดไข่ปลา ๑ เส้นและเส้นขอบอีก ๑ เส้น ตรงกลางมียันต์เอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อ อ่านจากบนลงล่าง มิ, นะ, อุ อ่านจากซ้ายไปขวา มะ, นะ, อะ เหรียญที่สร้างไม่ทราบจำนวนแน่ชัดแต่ทราบว่าน้อยมาก มีเนื้อเงินและทองแดง

..

..ด้านหน้า..

..

..ด้านหลัง..

เหรียญหลวงพ่อทอง ๒๔๘๖

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปีพ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘ นั้น เป็นช่วงที่เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่๒ ชายชาตรีตามหมู่บ้านต่างๆถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อรับใช้ประเทศ ในการป้องกันศัตรูผู้มุ่งร้ายต่ออธิปไตยของชาติ มีบางรายถึงกับต้องหนีการเป็นทหาร บางรายก็ต้องเป็นด้วยความจำใจ แต่มีผู้ชายส่วนหนึ่งจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ตั้งใจจะไปสู้รบกับศัตรู สมกับเป็นชายชาติทหารอก ๓ ศอก วีรชนที่เสียสละกอบกู้บ้านกู้เมืองเสียจริงๆ แต่ในการไปทำหน้าที่นั้น ทุกคนรู้ดีว่าเป็นภาระที่หนักหน่วง และตระหนักดีว่าแม้ชีวิตตนเองก็สามารถพลีได้ แต่กระนั้นก็ยังหวังพึ่งอำนาจพุทธคุณของหลวงพ่อตามวัดต่างๆ เพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอดกลับมาโดยปลอดภัย จึงต้องเสาะแสวงหาเครื่องรางมาไว้กับตัว

ในหมู่บ้านดอนสะท้อนก็เช่นเดียวกัน มีพระอาจารย์ทองซึ่งเป็นพระเถราจารย์ผู้ทรงพุทธคุณ เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านแถบนี้รวมถึงส่วนอื่นๆในภาคใต้ด้วย หลวงพ่อท่านจึงสร้างวัตถุมงคลซึ่งเป็นเหรียญห้อยคอ เพื่อให้แก่ลูกศิษย์ที่มารบเร้ากันมาก รูปเหรียญที่ท่านสร้างนี้นับเป็นเหรียญรุ่นแรกที่เป็นรูปหลวงพ่ออยู่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังนั้นมียันต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน ตัวเหรียญเป็นรูปใบสาเกแต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า”พิมพ์เต่า” เพราะมีลักษณะคล้ายเต่าที่เหยียดขาออก ด้านหน้าเหรียญจะมีความโค้งนูนเหมือนกับกระดองเต่าเช่นเดียวกัน

ด้านหน้าจะเป็นรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ ส่วนบนมีชื่อเขียนเป็นแนวโค้งตามรูปเหรียญว่า”วัดดอนสท้อน” โดย ส ไม่มีสระอะเหมือนชื่อวัดในปัจจุบัน โค้งด้านล่างเขียนว่า “พระอาจารย์ทอง” ขอบเหรียญ ๒ ชั้นที่เรียกกันว่า ๒ ขอบ ส่วนตำหนิของเหรียญที่บ่งบอกว่าเป็นของแท้ ขอให้สังเกตและพิจารณาด้วยตัวท่านเองแล้วกัน เพราะมาระยะหลังเหรียญหลวงพ่อที่เป็นเหรียญเลียนแบบ ออกมาสู่วงการพระเครื่องมากมายเหลือเกิน

ด้านหลังจะเป็นรูปยันต์เอกลักษณ์เฉพาะของท่าน ตัวยันต์ภาษาขอมตามแถวที่เรียงจากบนสู่ล่าง(แถวกลาง)คือ มะ,นะ,อุ แถวที่เรียงจากซ้ายสู่ขวา(แถวกลาง)คือ มะ,นะ,อะ ด้านบนตัวยันต์มี อุณาโลม ด้านซ้ายและขวาของแถวบนมี นะทรหด วางคู่กัน ด้านซ้ายและขวาแถวล่างมี นะล้อม วางคู่กัน ส่วนด้านล่างสุดเขียนบอกปีที่สร้าง พ.ส.๒๔๘๖

เหรียญรุ่นนี้สร้างน้อยมากแต่จะเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้น หลักฐานที่ชัดเจนเป็นหนังสืออ้างอิงไว้ไม่มีเขียนบอก ทราบแต่เพียงว่าเป็นเนื้อโลหะทองแดงและเงินเท่านั้น

..

..ด้านหน้า..

..

..ด้านหลัง..

เหรียญหลวงพ่อทอง ๒๕๐๘

อย่างที่ทราบว่าหลวงพ่อท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นในปี ๒๔๘๒ แต่ต้องประสบกับภาวะสงครามจึงเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง หลวงพ่อไม่ได้ละความพยายามจนแล้วเสร็จ ขอพระราชทานเขตวิสุงคามสีมาได้ในปี ๒๔๙๕ (ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๖๙ ตอนที่ ๒ หน้า ๙๙๓ ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕) หลังจากที่ท่านมรณภาพประมาณ ๕ เดือน ต่อมาหลวงพ่อประเดิม โกมโล(วัดเพลงวิปัสสนา กทม.) ได้ร่วมกับศาสนิกชนในการจัดผูกพัทธสีมาอุโบสถในปลายปี ๒๕๐๘
ในครั้งนั้น หลวงพ่อประเดิมท่านได้เป็นประธานสร้างเหรียญที่ระลึกหลวงพ่อทอง โดยมีลักษณะเหรียญด้านหน้าและด้านหลังผิดกับเหรียญรุ่น ๒๔๘๖ เล็กน้อย(เพื่อเป็นตำหนิ) ด้านหลังเขียนบอกปีที่สร้างคือ ๒๕๐๘ และเหรียญมีขนาดบางกว่า เป็นเนื้อทองแดงและมีจำนวนน้อยมาก ต่อมาพระสมุห์สว่าง ถาวรจิตฺโต เจ้าอาวาสในขณะนั้น เห็นว่าคณะศิษย์จำนวนมากยังไม่มีเหรียญที่ระลึกและหาทุนสมทบสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดดอนสะท้อน จึงสร้างเหรียญเพิ่มอีกโดยเป็นเนื้อกะหลั่ยทองจำนวน ๒,๕๐๐ เหรียญ รูปเหรียญมีลักษณะเหมือนกันกับเนื้อทองแดงทุกประการ

..

..ด้านหน้า..

..

..ด้านหลัง..

เหรียญหลวงพ่อทอง ๒๕๓๖

หลังจากที่พระสมุห์สว่าง ถาวรจิตฺโต ได้ลาสิกขาบท ก็มีเจ้าอาวาสปกครองมาเป็นลำดับจนมาถึง พระสมุห์แช่ม อตฺตสนฺโต เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน(รับตำแหน่งเจ้าอาวาสปี ๒๕๒๖) เห็นว่าอุโบสถชำรุดลงมากจึงร่วมกับศาสนิกชน บูรณะซ่อมแซมอุโบสถเสียใหม่ในปลายปี ๒๕๓๖ ในครั้งนั้นเช่นเดียวกันได้สร้างเหรียญหลวงพ่อทองเป็นเนื้อทองเหลืองจำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานยกช่อฟ้าอุโบสถ โดยมีคณาจารย์เกจิสายใต้ทำพิธีพุทธาภิเษก รูปเหรียญทั้งด้านหน้าและด้านหลังผิดกับปี ๒๕๐๘ เล็กน้อย(เพื่อเป็นตำหนิ) มีขนาดหนากว่าและเปลี่ยนปี พ.ศ.จาก ๒๕๐๘ เป็น ๒๕๓๖

..

..ด้านหน้า..

..

ด้านหลัง

เหรียญหลวงพ่อทอง ๒๕๓๘ นายพล

ในปี๒๕๓๘ มีคณะศิษยานุศิษย์นำโดยนายพลโทสุทิน เอมะพัฒน์(ยศขณะนั้น) ได้ร่วมกันสร้างเหรียญหลวงพ่อทองถวายในโอกาสเลื่อนยศทางทหาร เป็นเหรียญเนื้อทองแดงรมดำจำนวน ๗,๐๐๐ เหรียญ ด้านหน้าผิดกับปี ๒๕๓๖ เล็กน้อย ส่วนด้านหลังไม่เขียนบอกปี พ.ศ.ที่สร้าง ใต้ยันต์มีรูปมงกุฎครอบดาว ๒ ดวงบอกถึงยศทางทหาร จึงเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า “รุ่นนายพล”ตามยศของผู้สร้าง