ประวัติหลวงพ่อจีด วัดถ้ำเขาพลู
พ่อหลวงจีต ปุญฺญสโร วัดถ้ำเขาพลู อ.ปะทิว จ.ชุมพร เดิมชื่อ นายจีต หมื่นณรงค์ เป็นบุตรของพ่อลิ้น-แม่นุ้ย หมื่นณรงค์ มีพี่น้อง ๓ คนเป็นชายทั้งหมด ท่านเป็นคนสุดท้อง ชาตะ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ ปีฉลู พ.ศ.๒๔๑๙ อยู่บ้านนาหงษ์ ตำบลคลองหนาม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่อายุ ๒๑ ปี(พ.ศ.๒๔๔๐) ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดใหม่ท่าข้าม โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมมุนีฯเป็นพระอุปัฌชาย์ ท่านแดงเป็นพระกรรมวาจาจารย์และท่านเพ็ชรฯเป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาว่า ” ปุญฺญสโร ” ได้บวชเรียนศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดอยู่กับพระอาจารย์เส่ง วัดบ่อป่า อ.เมือง จ.สงขลา หลังจากมีความสามารถพอสมควรก็ขออนุญาตอาจารย์ออกธุดงค์ เที่ยวรุกขมูลไปทางนครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ ชุมพร ระนอง และกลับมาถึงชุมพร ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ จนมาเจอถ้ำเขาพลู ต.ชุมโค อ.ปะทิว พบถ้ำเป็นที่สัปปายะ(สบาย) มีน้ำใช้น้ำฉันอยู่บนถ้ำโดยธรรมชาติตกแต่งไว้บริบูรณ์ ภูมิประเทศน่าอยู่หมู่บ้านไม่ ใกล้ไม่ไกล สะดวกในการโคจรบิณฑบาต ผู้คนไม่พลุกพล่านเงียบสงัด เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่ปฏิบัติรักษา พรตพรหมจรรย์(ศีลบริสุทธ์)ท่านจึงอยู่เจริญสมณธรรมที่วัดถ้ำเขาพลู ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ก่อนที่พ่อหลวงจีตจะมาพำนักที่วัดถ้ำเขาพลู ก็พบว่าวัดถ้ำเขาพลูสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ ภายในถ้ำใหญ่มีพระพุทธรูปปั้นแบบมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๘๐ ซม. สูง ๑.๒๐ ซม. สันนิษฐานว่ามีอายุ ไม่ต่ำกว่า ๒๒๕ ปี ชาวบ้านเรียกว่า พระหลักเมือง สำหรับพ่อหลวงจีต เป็นพระภิกษุที่ตั้งมั่นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่งท่าน รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ตามพุทธบัญญัติที่สงฆ์ต้องปฏิบัติ โดยเคร่งครัดเพื่อมิให้มีความมัวหมอง ในข้อใดๆ ท่านมีจริยวัตรอันงดงาม มีเมตตาจิตและเมตตาธรรมธรรมสูง มีความมัธยัสถ์ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่ได้พบเห็น เป็นเนื้อนาบุญที่ดีงาม ไม่เห็นแก่ลาภยศ ไม่หยิบต้องเงินทอง ท่านสั่งสอนลูกหลานและญาติโยมทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ให้มีความโอบอ้อมอารี จึงทำให้อำเภอปะทิวเป็นเมือง ที่อยู่อย่างร่มเย็นตลอดมา และเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒ ท่านอายุได้ ๘๓ ปี ได้เริ่มอาพาธ บอกวันเวลาที่จะดับละสังขาร สั่งลูกศิษย์ให้มาขอขมาวันจันทร์ ที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๐๒ และวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๒ เวลา ๑๙.๒๕ น. พ่อหลวงจีตก็ละสังขารมรณะภาพลง ท่านมรณะภาพที่สำนักสงฆ์ถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์ที่ท่านสร้างอีกที่หนึ่ง อยู่ใกล้กับวัดถ้ำเขาพลู เป็นเขาลูกเดียวกัน และสำนักสงฆ์แห่งนี้เป็น ที่ตั้งจัดงานศพของท่าน กิจวัตร ๑๐ ประการสำหรับภิกษุที่บวชวัดถ้ำเขาพลูต้องถือปฏิบัติ ของพ่อหลวงจีต ๑. ต้องลงโบสถ์ ๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ ๓. สวดมนต์ไหว้พระ ๔. กวาดวิหาร ลานพระเจดีย์ ๕. รักษาผ้าครอง(สังฆาฏิ) ๖. อยู่ปริวาสกรรม ๗. โกนหนวด ปลงผม ๘. ศึกษาสิกขาบทหรือนวโกวาทและปฏิบัติพระอาจารย์ ๙. เทศนาบัตร ๑๐. พิจารณาปัจจะเวกทั้ง ๔ (อะตีตะปัจจะเวกขะณะวิธี) วัติปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส หลังจากบิณฑบาตกลับถึงวัดจะถ่ายอาหารออกจากบาตรใส่กาละมังไว้ ท่านจะหยิบอาหารแต่ละชนิดในปริมาณน้อยลงรวมในบาตรคลุกเคล้าอาหารทั้งคาวหวาน ไปด้วยกัน หยิบปั้นต้องพอดีคำระหว่างฉันก็ใช้มืออีกข้างรองด้านล่างกันอาหารตกหล่นลง ในบาตร ฉันอาหารมื้อเดียว สิ่งของที่มีเมล็ดงอกไม่ฉัน หมาก บุหรี่ ชา กาแฟ ก็ไม่แตะต้อง สำหรับการสรงน้ำในสมัยโบราณก็สรงน้ำบ่อตักใส่ในกระป๋องหรือโอ่งน้ำ แล้วนุ่งผ้าชุบอาบ ท่านจะไม่ใช้สบู่เพราะเป็นของหอม เวลาแปรงฟัน ได้ใช้ไม้ขี้แรดซึ่งนำมาจากบนเขาทำเป็นด้ามแปรง ส่วนด้านปลายทุบ ให้แตกเป็นเสี้ยนๆแล้งมัดเสี้ยนเหมือนดอกไม้กวาดแล้วใช้เป็นแปรงสำหรับสีฟัน สำหรับช่วงกลางคืนท่านจำวัดคืนละประมาณ ๒-๓ ชม. เท่านั้น เวลานอนจำวัด ท่านจะนอนตะแคงทางด้านซ้ายหรือขวา เมื่อรู้สึกก็พลิกตัวนอนตรงๆ ท่านจะตื่นลุกขึ้นนั่งทันที แล้วกล่าว “ฆเฏสิ ฆเฏสิ กิงการะณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ” จำนวน ๓ ครั้ง หลังจากนั้นท่านจะสวดมนต์บำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง หลังจากนั้น ท่านจะพักผ่อนหลับไปประมาณ ๑-๒ ชม. ก็จะตื่นและสวดมนต์ภาวนาอีกเป็นกิจวัตรประจำทุกๆคืน ใต้กุฏิท่านจะเป็นน้ำอยู่ตลอดถ้ำ สามารถเดินไปทะลุออกอีกฟากเขาได้แต่ในถ้ำมืดมากไม่มีไฟฟ้า ผมก็สอบถาม พ่อหลวงน้อย ตันติปาโล เจ้าสำนักรูปปัจจุบันท่านก็บอกว่าเมื่อก่อนมีไฟติดให้เพื่อ อำนวยความสะดวก แต่มาตอนหลังต้องถอดออกเพราะมีคนมาทำเสียงดังรบกวนสมาธิ